ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์ร่วง หลังดัชนีราคาผู้บริโภค-ความเชื่อมั่นผู้บริโภคหดตัว

ข่าวต่างประเทศ Saturday July 17, 2010 08:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงอย่างหนัก และดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวลดลงติดต่อกัน 3 เดือน รวมทั้งรายงานผลประกอบการที่อ่อนแอของซิตี้กรุ๊ป และแบงค์ ออฟ อเมริกา

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 01.98% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 86.590 เยน จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 87.450 เยน และดิ่งลง 0.96% เมื่อเทียบกับปอนด์ที่ระดับ 1.5305 ปอนด์ จากระดับ 1.5454 ปอนด์

ค่าเงินยูโรขยับลงเพียงเล็กน้อย 0.04% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ 1.2933 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.2938 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 1.03% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0516 ฟรังค์ จากระดับ 1.0409 ฟรังค์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียดิ่งลง 1.48% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ 0.8705 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 0.8836 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 2.38% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ 0.7108 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7281 ดอลลาร์สหรัฐ

ภาวะการซื้อขายในตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กผันผวนอย่างหนักเนื่องจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นในเดือนก.ค. ร่วงลงสู่ระดับ 66.5 จุด จากเดือนมิ.ย.ที่ระดับ 76.0 จุด ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ 74.5 จุด เนื่องจากผู้บริโภคมีความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลง

ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อ ลดลง 0.1% ในเดือนมิ.ย. ทำสถิติลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะทรงตัวจากระดับของเดือนพ.ค. เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงาน อาหาร และค่าธรรมเนียมสายการบิน ปรับตัวลดลง

ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐได้ตอกย้ำถึงความวิตกกังวลที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ตลาดได้รับแรงกดดันอย่างหนักอยู่แล้วจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ลงสู่ระดับ 3.0 - 3.5% ซึ่งน้อยกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัวราว 3.2 - 3.7% และคาดว่าเศรษฐกิจในปี 2555 จะขยายตัวราว 3.5 - 4.5% ขณะเดียวกัน เฟดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราว่างงานในสหรัฐว่าจะอยู่ที่ระดับ 9.2 - 9.5% ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 9.1 - 9.5%

ค่าเงินยูโรได้แรงหนุนหลังจากนายเหวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีน ยืนยันว่า ยุโรปยังคงเป็นเป้าหมายการลงทุนหลักสำหรับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน และจีนจึงยึดมั่นในหลักการการนำเงินในพอร์ทออกมากระจายความเสี่ยง ซึ่งตลาดยุโรปเป็นหนึ่งในตลาดการลงทุนหลักของจีน นอกจากนี้ นายเหวินยังกล่าวด้วยว่า จีนพร้อมจะให้ความช่วยเหลือหากประเทศยุโรปได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สาธารณะ

นักลงทุนผิดหวังต่อผลประกอบการของซิตี้กรุ๊ป และแบงค์ ออฟ อเมริกา โดยเมื่อวานนี้ซิตี้กรุ๊ปเปิดเผยกำไรไตรมาส 2 ลดลง 38% มาอยู่ที่ระดับ 2.73 พันล้านดอลลาร์ หรือ 9 เซนต์ต่อหุ้น ขณะที่แบงค์ ออฟ อเมริกา เปิดเผยกำไรไตรมาส 2 ลดลง 75% จากไตรมาสแรก มาอยู่ที่ระดับ 1.2 พันล้านดอลลาร์

วุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 60 ต่อ 39 อนุมัติร่างกฏหมายปฏิรูปภาคการเงินของสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการยกเครื่องระบบการเงินครั้งใหญ่ที่สุดนับจากทศวรรษที่ 1930 โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนดข้อบังคับที่เข้มงวดเกี่ยวกับกิจกรรมการซื้อขายและการลงทุนด้านเฮดจ์ฟันด์ของธนาคาร นอกจากนี้ ยังเปิดทางให้รัฐบาลสามารถปิดกิจการสถาบันการเงินเสี่ยงต่อการล้มละลายได้ รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อคุ้มครองกลุ่มผู้บริโภคทางการเงิน จัดตั้งกระบวนการในการปิดบริษัทการเงินที่ประสบปัญหา และยกระดับมาตรฐานเงินกองทุนของธนาคาร โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติสินเชื่อแบบในปี 2550 - 2552 ขึ้นอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ