ส.อ.ท.จับมือเอกชนพม่าร่วมขยายการค้า-การลงทุน เสริมศก.อุตสาหกรรมชายแดน

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday July 17, 2010 11:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ร่วมกับ สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพพม่า ประชุมหารือแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือหลักที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุนด้านอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมชายแดน 2 ประเทศให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ของภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนสหภาพพม่า ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำต่อปฏิญญาพุกาม และปฏิญญาอาเซียนที่จะยืนยัน สร้างสรรค์ ความมุ่งมั่นที่จะเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม รวมถึงส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงร่วมกัน

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานพิธีเปิดการประชุม กล่าวว่า ไทยกับพม่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมายาวนาน และไทยก็ได้พึ่งพิงแรงงานชาวพม่าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานในเขตพื้นที่อำเภอแม่สอดล้วนมีแรงงานชาวพม่าอยู่มากมาย ทั้งนี้นักธุรกิจไทย พม่า ก็ให้ความสำคัญและศึกษาช่องทางที่จะเข้าไปร่วมลงทุนทำธุรกิจกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อมูลสถิติมูลค่าการค้าของไทยในปี 2552 ที่ผ่านมา ไทยเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของพม่า มีมูลค่าการค้ารวม 4,326 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังมีมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างกันในปี 2552 คิดเป็นเงิน 148,628 ล้านบาท

แต่ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจระหว่างภาคเอกชนของทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังคงมีประเด็นปัญหาอุปสรรคอยู่บ้างที่ต้องอาศัยให้มีการเจรจาเพื่อแสวงหาความร่วมมือและทางออกร่วมกัน ดังนั้นการประชุมในครั้งนี้จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อภาคเอกชนสองฝ่ายที่จะมีการร่วมเจรจาเพื่อผลักดันแนวทางการขยายธุรกิจใน 2 ประเทศ ซึ่งตนยินดีและจะพิจารณาแนวทางการสนับสนุนผลจากการประชุมในครั้งนี้อีกทางหนึ่ง

"ในส่วนของระเบียบปฏิบัติของทั้ง 2 ประเทศยังมีความแตกต่างกันพอสมควร ดังนั้นภาคเอกชนจึงได้มาหารือกัน เราก็ต้องการให้เสนอปัญหาเข้ามา รัฐบาลพร้อมจะแก้ไขให้ ซึ่งกับประเทศพม่าแล้วในระดับนโยบายเราพร้อมที่จะหารือกันอยู่ตลอด และเดือนหน้านายกฯ ก็จะเดินทางไปพม่า ซึ่งน่าจะมีการหารือในรายละเอียดอื่นๆ ด้วย" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

ด้านพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมหารือความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทย และสหภาพพม่าในครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการขยายตลาด และประสานความร่วมมือในกรอบต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน ซึ่งเป็นโอกาสในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยและสหภาพพม่าให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

ทั้งนี้ภาคเอกชนทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือร่วมกันมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยมีการตกลงที่จะให้ความร่วมมือกันทั้งหมด 8 ด้าน คือ 1.การอำนวยความสะดวกทางการค้า 2.เกษตรกรรม 3.การลงทุนทั้งทางด้านอุตสาหกรรม และพลังงาน 4.การเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคม 5.การท่องเที่ยว 6.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 7.สาธารณสุข และ 8.ด้านสิ่งแวดล้อม

โดยจะมีการติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการรวบรวมปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อที่จะนำมาหารือร่วมกันให้ได้แนวทางแก้ไข เพื่อนำเสนอให้ภาครัฐพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ และอำนวยความสะดวกให้การสนับสนุนความร่วมมือทั้ง 8 ด้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมหารือในครั้งนี้ถือเป็นการรับทราบความก้าวหน้า และแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหา และอุปสรรคการดำเนินความร่วมมือทั้ง 8 ด้านดังกล่าว

"ความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่ายที่ผ่านมา ได้มีส่วนเกื้อหนุนกันในกรอบต่างๆ ในภูมิภาค อาทิ ACMECS, GMS, Mekong-Japan และ ASEAN ซึ่งทำให้เกิดภาพสะท้อนว่าผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ ได้หลอมรวมเป็นความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่จะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าของ 2 ประเทศได้อย่างต่อเนื่อง" ประธาน ส.อ.ท.กล่าว

ทั้งนี้ ส.อ.ท.เห็นว่าควรที่จะมีการจัดตั้งกลไกความร่วมมือ ในรูปแบบของคณะทำงานเขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมชายแดนทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือและขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย และพม่า สามารถมีบทบาทเชิงรุกทางด้านการตลาด การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การขยายการสร้างฐานการผลิตอุตสาหกรรม และการลงทุนด้านเกษตรในพื้นที่ชายแดน 2 ประเทศ (Contract Farming Investment) โดยสภาอุตสาหกรรมฯ ยินดีที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีแรงงานแบบเช้าไปเย็นกลับ (Daily Border Crossing) โดยประเทศไทยจะให้การสนับสนุนโครงการ Contract Farming ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจบนพื้นฐานเกษตร (Agro-Based Resource Economy) โดยสินค้าเกษตรมีลักษณะเป็น Forward Linkage การผลิตมีลักษณะเป็นต้นน้ำ (Upstream)

โดยในเรื่องดังกล่าวภาครัฐของไทยมีแนวนโยบายที่จะยกระดับความเชื่อมโยงการผลิตทางเกษตรกับอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรกรรมของทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้งการสร้างแหล่งงาน การจัดระบบแรงงาน การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การมอบทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องทุกปี การเตรียมความพร้อมในการเข้าสู้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC : ASEAN Economic Community) ซึ่งจะเริ่มขึ้นในต้นปี 2015 และปี 2020 ตามลำดับ ซึ่งจะเป็นปีที่อาเซียนรวมเป็นตลาดเดียว และมีฐานการผลิตเดียวกัน (Single Market and Production Base)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ