นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เผยที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.ศก.) มีมติเห็นชอบแนวทางการยุติสัญญาร่วมการงานเดิมในระบบ 2G เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
"ที่ประชุมฯ เห็นชอบแนวทางการยุติสัญญาร่วมการงานเดิมระบบ 2G โดยดำเนินธุรกิจภายใต้ใบอนุญาตจาก กทช.และหรือ กสทช.โดยมีอายุและค่าธรรมเนียมที่เท่าเทียมกัน" นายกรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงเทคโนโยลีสานสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เพื่อพิจารณาศึกษาและแนวทางปฏิบัติ และขับเคลื่อนการดำเนินการโดยให้แล้วเสร็จภายในปี 2553
รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังรับทราบการออกใบอนุญาตระบบโทรคมนาคมยุคที่ 3(3G) ภายใต้กฎหมายใหม่ และเงื่อนไขการประมูลตามที่ กทช.ประกาศ และให้ รมว.ไอซีที เป็นประธานคณะกรรมการที่ประกอบด้วยกระทรวงการคลัง, กระทรวงไอซีที และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพิจารณาระบบ รูปแบบ การประกอบกิจการที่เป็นการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม มีองค์กรกำกับดูแลเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิทธิทางกฎหมายตามสัญญาและรายได้สัมปทานที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ ให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของรัฐที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งรัฐบาลจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปหารือกับ กทช.ต่อไป
รมว.คลัง กล่าวว่า ข้อเสนอร่วมกันของกระทรวงการคลังและกระทรวงไอซีทีครั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมย์ของแผนแม่บทไอซีทีที่ ครม.เคยมีมติไว้ก่อนหน้านี้ที่ต้องการให้เกิดการแข่งขันอย่างเสมอภาค เนื่องจากภาวะการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่มีความเสมอภาค ซึ่งส่งผลให้ประชาชนที่เป็นผู้บริโภคเสียผลประโยชน์
ปัจจุบันอายุสัมปทานของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีความแตกต่างกัน คือ ทรูมูฟ ในเครือบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เหลือเวลา 3 ปี, บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) หรือ เอไอเอส เหลือเวลา 5 ปี และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เหลือเวลาอีก 8 ปี
รมว.คลัง กล่าวว่า เมื่อผู้ให้บริการเหลือเวลาสัมปทานน้อยก็จะไม่มีการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้คุณภาพและการให้บริการด้อยลง ขณะที่มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและประโยชน์ที่ผู้บริโภคควรจะได้รับ
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการร่วมฯ จะได้วางแผนแม่บทการลงทุนในอนาคต โดยให้กลไกตลาดเป็นตัวชี้ว่าผู้ให้บริการควรจะลงทุนในเทคโนโลยีใด ช่วงเวลาใด เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ขณะเดียวกันรัฐต้องการให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่ากับการลงทุน แต่จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ
ส่วนบทบาทของหน่วยงานด้านกิจการโทรคมนาคม คือ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคมนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า แผนแม่บทฉบับใหม่จะมีการกำหนดบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้น โดยจะต้องไม่เข้าไปแข่งขันในฐานะผู้ประกอบการ แต่มีหน้าที่เป็นเจ้าของสัมปทานหรือผู้กำกับดูแล และเป็นเจ้าของทรัพย์สินอย่างแท้จริงเพื่อที่จะสามารถเปิดให้มีผู้ประกอบการเข้ามาร่วมแข่งขันได้มากกว่าปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หาก บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม จะเป็นผู้ประกอบการเองก็ต้องแยกออกมาเป็นบริษัทลูก และมีการกำหนดเงื่อนไขไม่ให้บริษัทลูกมีความได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่น
รมว.คลัง กล่าวว่า การพัฒนากิจการโทรคมนาคมหลังจากนี้ไปจะเป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค โดยสามารถเลือกใช้บริการได้ทั้ง 2G และ 3G ทำให้ไม่ต้องลงทุนสิ้นเปลืองเกินความจำเป็น และการจัดทำแผนแม่บทครั้งนี้อาจส่งผลให้ กทช.ต้องไปปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่ทำให้การประมูลล่าช้าออกไปจากเดิมในเดือน ก.ย.53 แต่จะอยู่ภายในสิ้นปีนี้