นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ฝ่ายวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุในบทความเผยแพร่ เรื่อง "กรณีไข่แพงกับความไม่เป็นธรรมในสังคม"ว่า การที่ครม. ได้มีมติให้ยกเลิกระบบโควต้าการนำเข้าพ่อแม่พันธ์ไก่นี้ จะช่วยแก้ปัญหาการผูกขาดพ่อแม่พันธ์ไก่ในตลาดได้ แต่ก็จะสร้างปัญหาไข่ล้นตลาดและการทุ่มตลาดไข่ไก่ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหาเดิมก่อนที่จะมีการนำระบบโควต้ามาใช้เพื่อจำกัดปริมาณพ่อแม่พันธ์ไก่ในปี พ.ศ. 2545
"วิบากกรรมของเกษตรกรเลี้ยงไก่คงไม่มีทางจะหมดสิ้นไป ตราบใดที่กลไกของรัฐยังคงเข้าข้างผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่า แม้วันนี้ปัญหาการผูกขาดพ่อแม่พันธุ์ไก่จะสิ้นสุดลง แต่ปัญหาการผูกขาดวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ เช่น ปลาป่น หรือ กากถั่วเหลือง ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบโควต้าเช่นกัน หรือ ปัญหาการทุ่มตลาดราคาไข่ไก่ ก็ยังคงอยู่ และอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น" บทความเผยแพร่ระบุ
ปัญหาที่เรื้อรังของอุตสาหกรรมนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจไทย ที่ทุนขนาดใหญ่สามารถครอบงำกลไกของภาครัฐได้ การที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตกอยู่กับกลุ่มธุรกิจที่มีเส้นสายทางการเมืองยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยยิ่งนับวันยิ่งถ่างมากขึ้น ปัญหาในลักษณะดังกล่าวมีอยู่ทั่วทุกมุมของเศรษฐกิจไทย
กรณี “ไข่ไก่" เป็นประเด็นขึ้นมาเพียงเพราะประเทศไทยมีลักษณะพิเศษที่มีการวัดขีดความสามารถของรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจด้วย “ราคาไข่ไก่" ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของเกษตรไก่ไข่ ทั้งนี้ ยังมีเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยอีกจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากพฤติกรรมทางการค้าที่ส่อความไม่เป็นธรรมในหลายสาขาธุรกิจที่รัฐไม่เคยให้การเหลียวแล
นางเดือนเด่น กล่าวว่า การที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ไก่จำนวน 113 ฟาร์ม ในนาม บริษัท เอเอฟอี จำกัด ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่ ฯ ต่อศาลปกครองนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะแสดงถึงการลุกขึ้นมาต่อสู้ของกลุ่มผู้ที่ถูกเอาเปรียบเพื่อให้เขาได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้แล้ว กรณีนี้น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับปัญหาการมีส่วนได้เสียของกรรมการในคณะกรรมการของภาครัฐหลายแห่งที่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจที่ตนเองกำกับ