ธปท.ชี้เงินบาทปรับตัวเป็นธรรมชาติ, แบงก์ตอบสนองดบ.ขาขึ้นสะท้อนศก.ฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ผ่านมามีทั้งแข็งค่าและอ่อนค่า แต่เป็นไปตามธรรมชาติตามความต้องการที่แท้จริง ซึ่ง ธปท.จะดูแลไม่ให้เกิดความผันผวน เพื่อให้เอกชนปรับตัวได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถปรับตัวได้ดี

สำหรับในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวน เพราะก่อนหน้าที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีเงินไหลเข้ามาทำให้เงินบาทแข็งค่าพอสมควร แต่หลังจาก กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วมีประเด็นจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น เลยทำให้เงินบาทอ่อนค่าไปตามภูมิภาค

วานนี้ เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 32.28 บาท/ดอลลาร์อ่อนค่ามา แต่เป็นการปรับตัวทั้งสองขาตามภาวะตลาด

"ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงภายใต้วิสัยที่ไม่สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจ...ตอนนี้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวรับการแข็งค่าเงินบาทมากขึ้น" นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวว่า ธปท.จะดูแลอัตราดอกเบี้ยในประเทศให้ปรับขึ้นในจังหวะที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่องและไม่ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระยะยาว โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในการประชุม กนง.วันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมาคงจะไม่ใช่ครั้งเดียว แต่แม้ว่าปรับขึ้น 0.25% อัตราดอกเบี้ยของไทยก็ยังต่ำกว่าในภูมิภาค ขณะที่เงินเฟ้อขึ้นไปที่ 3% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบอยู่

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำเป็นต้องดูจังหวะเวลาและข้อมูลที่ได้รับเข้ามา ซึ่ง ธปท.จะค่อย ๆ ขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจปรับตัวได้ แต่บอกไม่ได้ว่าจะปรับขึ้นกี่ครั้ง ก็รอดูตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆที่เข้ามา ซึ่งขณะนี้สิ่งที่วิตก คือ ภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งนโยบายการเงินจะไม่ได้ดูแต่อัตราเงินเฟ้ออย่างเดียว แต่ต้องดูแลภาวะเศรษฐกิจด้วย

ส่วนภายหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ธนาคารพาณิชย์ตอบสนองได้ดี ทั้งนี้นับตั้งแต่ 14-20 ก.ค.นี้ ธนาคารพาณิชย์ 15 แห่งปรับดอกเบี้ยขึ้นทั้งเงินฝากและเงินกู้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความสมดุลมากขึ้น เพราะการปรับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น สะท้อนถึงความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ธนาคารพาณิชย์พร้อมจะแข่งขันระดมเงินฝากเสริมสภาพคล่องเพื่อนำไปปล่อยกู้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารด้วย ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากเงินออมในประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จะทำให้เศรษฐกิจได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ