In Focusกฎหมายปฏิรูปภาคการเงินฉบับประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ชัยชนะที่โอบามาต้องแลกด้วยความกล้าและเสียงวิจารณ์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 21, 2010 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อีกเพียงไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ก็จะถึงกำหนดการที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐ ลงนามรับรอง "กฏหมายปฏิรูปภาคการเงิน" กฎหมายฉบับประวัติศาสตร์ที่ผ่านการอภิปรายอย่างยืดเยื้อยาวนานในสภาผู้แทนราษฏรมาแล้ว ผ่านอุปสรรคขวากหนามและการถูกวิพากษ์วิจารณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการยกเครื่องภาคการเงินครั้งใหญ่ของสหรัฐในวันนี้ สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลในยุคก่อนๆปล่อยปละละเลยในการกำกับดูแลภาคการเงินและการธนาคาร ทั้งยังกำหนดทฤษฎีตลาดเสรีสุดขั้วที่เชื่อว่า "กลไกตลาด" สามารถจัดการกับระบบเศรษฐกิจได้ด้วยตนเอง จึงนำไปสู่การผ่อนปรนกฎเกณฑ์กำกับระบบสถาบันการเงิน และเป็นจุดกำเนิดของธุรกิจการปล่อยสินเชื่อที่ด้อยคุณภาพ หรือซับไพรม์ ทฤษฎีกลไกตลาดเสรีทำให้สถาบันการเงินแข่งขันกันในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้ การลงทุน และพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ โดยมีเพียงจุดหมายเดียวคือ กำไรสูงสุด วงจรดังกล่าวได้ทำให้กับเศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างมากในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ความประมาทก็ทำให้สถาบันการเงินเหล่านี้ย่ามใจ เริ่มลดมาตรฐานการปล่อยกู้ที่เคยเข้มงวด จนนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจในที่สุด การล่มสลายของตลาดซับไพรม์สหรัฐในช่วงปลายปี 2551 เป็นโดมิโนตัวแรกของโลกทุนนิยมที่ล้มลง และพาโดมิโนตัวอื่นๆที่ผูกติดกันด้วยโลกาภิวัฒน์ล้มลงตามกันไปเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็นระบบสถาบันการเงินหรือระบบเศรษฐกิจก็ตาม

หายนะทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงของสหรัฐมาถึง "จุดพีค" ในช่วงก่อนที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จะครบวาระการดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน จึงทำให้การขึ้นมารับไม้ต่อของบารัค โอบามา ต้องกลายเป็นการรับเอาเผือกร้อนจากบุชไปโดยปริยาย เผือกร้อนที่คณะทำงานบุชทิ้งเอาไว้ให้ก็คือแนวคิดที่ว่า ควรนำเงินภาษีประชาชนมาอุ้มสถาบันการเงินที่ถูกเรียกว่า "ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้ม" โดยให้เหตุผลว่าการล้มของยักษ์ใหญ่แห่งวอลล์สตรีทเหล่านี้จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินพังครืนทั้งระบบ แนวคิดดังกล่าวได้สร้างความปวดใจให้กับภาคประชาชนของสหรัฐเป็นอย่างมาก เสียงร้องเรียนของราษฎรผู้เสียภาษีดังขึ้นทุกวันจนโอบามาไม่อาจอยู่เฉยอีกต่อไปได้ เขาพาคณะทำงานที่เต็มไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านเศรษฐศาสตร์ เดินหน้าวางแผนปฏิรูประบบการเงินและระบบอื่นๆที่จะเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจและการเงินกันอย่างไม่ลดละ

แต่หลังจากพิธีลงนามรับรองในวันนี้เสร็จสิ้นลง ประวัติศาสตร์ของสหรัฐจะถูกบันทึกไว้อีกหน้าหนึ่งว่า นับจากวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 นี้เป็นต้นไป ภาคการเงินของสหรัฐจะถูกยกเครื่องทั้งหมดและจะมีขนาดเล็กลงในระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งจะทำให้วอลล์สตรีทมีบทบาทน้อยลง หลังจากที่เคยครองสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

* ย้อนรอยกฎหมายปฏิรูปภาคการเงินฉบับประวัติศาสตร์

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในภาพข่าวที่สะกดสายตาคนทั้งโลกเมื่อปีที่แล้ว คือภาพข่าว บารัค โอบามา เข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 ข่าวดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทุกสำนัก โดยเฉพาะ CNN ที่ยกให้ข่าวชิ้นนี้ติดทำเนียบข่าวยอดนิยมอันดับ 1 ของเว็บไซต์ CNN ประจำปี 2552 นอกเหนือจากภาพของโอบามาที่วางมือซ้ายลงบนพระคัมภีร์ไบเบิลเล่มเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น เคยใช้ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐเมื่อ 148 ปีก่อนแล้ว คำปฏิญานของโอบามาที่ว่า "ข้าพเจ้าจะทำหน้าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาด้วยความซื่อสัตย์ จะปกปักษ์ รักษา และพิทักษ์รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา" ยังทำให้คนทั้งโลกจับตาดูว่าโอบามาจะสามารถปกปักษ์รักษาเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศอย่างที่ปฏิญานไว้ได้หรือไม่ ... แล้วประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐผู้นี้ก็ไม่ทำให้ชาวสหรัฐต้องผิดหวัง ด้วยการลุกขึ้นผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 7.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 27.5 ล้านล้านบาท) จนเป็นผลสำเร็จเมื่อวันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกทั้งที่เข้ารับตำแหน่งได้เพียงเดือนเดียว

หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม 2552 โอบามาก็ประสบความสำเร็จอีกครั้งด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสังคมครั้งใหญ่สุดในรอบกว่า 40 ปีของสหรัฐ แต่โอบามาและคณะทำงานไม่หยุดอยู่แค่นั้น เริ่มวางแผนการปฏิรูปภาคการเงินต่อไป โดยโอบามาเริ่ม "แตะ" วอลล์สตรีทแบบโยนหินถามทาง ด้วยการออกกฎให้ผู้บริหารบริษัทที่ขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสามารถรับค่าตอบแทนได้ไม่เกิน 5 แสนดอลล์/ปี รวมทั้งเสนอให้มีการใช้กฎไม่อนุญาตให้มีการใช้เงินภาษีราษฎรอย่างไม่เหมาะสม ความเคลื่อนไหวในเชิงรุกของโอบามาทำให้ยักษ์ใหญ่ในวอลล์สตรีทที่เคยอยู่ดีกินดีและแบมือขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเมื่อธุรกิจมาถึงทางตัน พากันวิ่งหน้าตื่น เพราะแทบไม่เชื่อตาตัวเองว่า เป้าหมายการ "ล้างบาง" ขั้นต่อไปของประธานาธิบดีไฟแรงผู้นี้จะเป็น"วอลล์สตรีท"

แผนการปฏิรูปภาคการเงินของโอบามาเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 เมื่อโอบามาเริ่มหยั่งเสียงสภาคองเกรสด้วยการเสนอแผนปฏิรูปภาคการเงินครั้งใหญ่ แล้วชงเรื่องให้สภาอภิปราย ส่งผลให้การประชุมอภิปรายและถกเถียงเกี่ยวกับความเหมาะสมของกฎหมายฉบับนี้ดำเนินไปอย่างยืดเยื้อยาวนานกว่า 12 สมัยการประชุม แม้คณะทำงานของโอบามาให้เหตุผลที่น่าจะฟังขึ้นว่า แผนปฏิรูปภาคการเงินมีเป้าหมายที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดของรัฐบาลในสมัยก่อนๆ อีกทั้งมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นอีก โดยใช้วิธีอุดช่องโหว่ในการกำกับดูแล กำหนดให้บริษัทการเงินเพิ่มทุน และปรับปรุงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและนักลงทุนก็ตาม

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ให้ความสนใจคือ การที่โอบามาให้อำนาจธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการสอดส่องดูแลความเสี่ยงต่างๆที่จะส่งผลกระทบต่อระบบ เศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้บรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) มีอำนาจในการเข้ายึดกิจการธนาคารที่ประสบปัญหา และยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหาของธนาคารแห่งนั้น ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าธนาคารนั้นๆก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ และยังหนุนหลังคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ให้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาในระบบการเงินด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ โอบามายังกล้าแหย่แตนรังใหญ่ในวอลล์สตรีท ด้วยการเสนอกฎป้องกันภาครัฐจากการทุ่มเงินจำนวนมากในการฟื้นฟูกิจการเอกชน เพื่อทลายกำแพงแนวคิดที่ว่าสถาบันการเงินบางแห่งมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มละลายได้ และป้องกันไม่ให้มีการฟื้นฟูกิจการแบบที่ทำกับบริษัท AIG ขึ้นอีก พร้อมกับยุติการปล่อยกู้จำนองบ้านและบัตรเครดิตที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค แม้นักเศรษฐศาสตร์บางคนแย้งว่ากฏเกณฑ์ดังกล่าวอาจต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป เพราะรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบุชเคยได้บทเรียนมาแล้วจากการตัดสินใจไม่ให้ความช่วยเหลือกิจการเลห์แมน บราเธอร์สในปี 2551 ซึ่งการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ทำให้ตลาดทั่วโลกเข้าสู่ภาวะชะงักงัน แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวไม่อาจหยุดยั้งโอบามาได้ นั่นเพราะเขาเชื่อว่าหากผลักดันแผนการดังกล่าวจนสามารถบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ เศรษฐกิจสหรัฐก็จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากวิกฤตการณ์ในภาคการเงิน และผู้บริโภคจะหลุดพ้นจากการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว

นอกจากนี้ โอบามายังเสนอให้มีการตรวจสอบการซื้อขายตราสารอนุพันธ์นอกตลาดที่มีวงเงินตั้งแต่ 450 ล้านล้านดอลลาร์ขึ้นไป เพราะการค้าตราสารอนุพันธ์ในลักษณะเช่นนี้จะทำให้วิกฤติการเงินขยายวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งเสนอให้มีการกำกับดูแลธุรกิจธนาคารอย่างเข้มงวดมากขึ้น

แต่เส้นทางสู่ความสำเร็จมักไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ที่ทรงอิทธิพลของภาคเอกชนสหรัฐพากันออกมาโจมตีแผนการของโอบามาทันที เริ่มจากขาใหญ่ของวอลล์สตรีท คือ นายเอ็ดเวิร์ด จินลิ่ง ประธานสมาคมธนาคารสหรัฐ ที่บอกว่า แผนการปฏิรูปภาคการเงินฉบับนี้มีสโคปที่กว้างเกินไปและยากแก่การปฏิบัติ ขณะที่บรรดาผู้ที่ส่อเค้าว่าจะสูญเสียผลประโยชน์จากแผนการดังกล่าวก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์ ตั้งแต่บริษัทบัตรเครดิตและสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้จำนอง รวมทั้งสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในย่านวอลล์สตรีทที่ครองส่วนแบ่งใหญ่ในการค้าตราสารอนุพันธ์นอกตลาด ซึ่งมีโกลด์แมน แซคส์, เจพีมอร์แกน เชส, ซิตี้, แบงก์ ออฟ อเมริกา และมอร์แกน สแตนเลย์ รวมอยู่ด้วย

* 15 กรกฎาคม 2553 วันที่สิ้นสุดการต่อสู้อันยาวนาน

คณะทำงานของโอบามาคงไม่มีวันลืม วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นวันที่วุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 60 ต่อ 39 อนุมัติร่างกฏหมายปฏิรูปภาคการเงินฉบับประวัติศาสตร์ที่ผ่านการถกเถียงในสภาและเสียงคัดค้านจากผู้เสียผลประโยชน์มานานแรมเดือน ซึ่งกฎเหล็กที่เป็นไฮไลท์ของกฎหมายฉบับนี้คือ การใช้ข้อบังคับที่เข้มงวดเกี่ยวกับกิจกรรมการซื้อขายและการลงทุนด้านเฮดจ์ฟันด์ของธนาคาร ให้อำนาจรัฐบาลในการปิดกิจการสถาบันการเงินที่เสี่ยงต่อการล้มละลาย จัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อคุ้มครองกลุ่มผู้บริโภคทางการเงิน และยกระดับมาตรฐานเงินกองทุนของธนาคาร โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐต้องเผชิญวิกฤตการเงินเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2550 - 2552 อีก

งานนี้ ผู้ที่น่าจะตื่นเต้นและดีใจที่สุดคงเป็นโอบามา เพราะนอกจากเขาจะถูกคาดหวังจากชาวอเมริกันแล้ว ประเทศต่างๆทั่วโลกยังได้ฝากความหวังไว้ว่า โอบามาจะเป็บแบบอย่างให้กับรัฐบาลทุนนิยมทั่วโลกที่กล้าออกมายอมรับความจริงว่า ทฤษฎีการเงินที่ใช้บริหารเศรษฐกิจอยู่นี้มีข้อบกพร่องที่จะต้องแก้ไข ด้วยการปรับกระบวนความคิดออกจากอุดมการณ์ความเชื่อเรื่องตลาดเสรีสุดขั้ว ไปสู่กรอบความคิดทฤษฎีใหม่ ที่เน้นความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจมากกว่าเน้นการเจริญเติบโตแบบฉาบฉวย

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้วุฒิสภาสหรัฐยอมลงมติผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ก็คือ คดีที่ก.ล.ต.สหรัฐยื่นฟ้องเอาผิดกับโกลด์แมน แซคส์ ในข้อหาใช้ช่องโหว่ของกฎข้อบังคับด้านการเงิน ปกปิดและอำพรางข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ซีดีโอที่ชื่อว่า "ABACUS 2007-AC1" จนเป็นเหตุให้ลูกค้าของโกลด์แมน แซคส์ ขาดทุนจำนวนมาก ซึ่งธนาคารที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือธนาคารไอเคบี ของเยอรมนี และธนาคารเอบีเอ็น อัมโร ของเนเธอร์แลนด์ แต่ในที่สุดโกลด์แมน แซคส์ ก็ตัดสินใจยุติคดีดังกล่าวด้วยการยอมให้ทางการสหรัฐเปรียบเทียบปรับเป็นเงินสูงถึง 550 ล้านดอลลาร์ จนส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2553 ของโกลด์แมน แซคส์ ทรุดฮวบลงถึง 83%

... ประวัติศาสตร์สหรัฐจะต้องบันทึกไว้อีกหน้าหนึ่งว่า วันที่ 21 กรกฎาคม 2553 เป็นวันแห่งชัยชนะของประธานาธิบดีโอบามา และคงไม่ต้องรอให้ "หมึกพอล" ออกมาทำนาย ก็พอจะพยากรณ์ได้ว่า ทันทีที่พิธีลงนามบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปภาคการเงินเสร็จสิ้นลงในวันนี้ เสียงปรบมือ หรือแม้กระทั่งเสียงเปิดแชมเปญ คงจะดังกึกก้องไปทั่วทำเนียบขาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ