นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การแข็งค่าของสกุลเงินหยวนจะไม่ช่วยให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจาการนำเข้าของจีน ลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งนับตั้งแต่จีนประกาศใช้นโยบายปฏิรูปกลไกอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเมื่อเดือนก.ค. ค่าเงินหยวนก็ปรับตัวขึ้นไปแล้วกว่า 20%
นายหลิว หงยี นักวิเคราะห์จากบริษัท เซียงไค ซิเคียวริตีส์ กล่าวว่า การปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยเงินหยวนมีผลกระทบต่อระดับราคาผู้บริโภคของจีนในกรอบที่จำกัดเท่านั้น และเนื่องจากระดับราคาผู้บริโภคในประเทศจีนมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับดีมานด์โดยรวมภายในประเทศ ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจากสินค้านำเข้านั้น มีผลกระทบต่อระดับราคาผู้บริโภคในกรอบที่จำกัด
ทั้งนี้ นายหลิวระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วดัชนีพีพีไอเป็นดัชนีวัดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศ และเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าราคานำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาผู้บริโภคในจีนปรับตัวสูงขึ้นด้วย
ด้านนายจาง ปิน นักวิเคราะห์จากสถาบันสังคมศาสตร์ของจีน คาดการณ์ว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นราว 2 - 3% ในปีนี้ และจากการประเมินที่ว่าเศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ จึงอาจทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนมีผลกระทบต่อระดับราคาผู้บริโภคในกรอบที่จำกัด สำนักข่าวซินหัวรายงาน