ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์,ยูโรร่วง หลัง"เบอร์นันเก้"ชี้ศก.สหรัฐเผชิญความไม่แน่นอน

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 22, 2010 07:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินปอนด์ และเงินยูโร ร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (21 ก.ค.) หลังจาก เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญกับ"ความไม่นอนอย่างไม่ปกติ" และแนวโน้มการฟื้นตัวยังคงซบเซา ซึ่งการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวทำให้ความต้องการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงลดน้อยลงและยังทำให้นักลงทุนวิตกกังวลในวงกว้าง นอกจากนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่จับตาดูการเปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ของธนาคารในยุโรปในวันศุกร์นี้

ค่าเงินยูโรร่วงลง 0.91% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.2767 ดอลลาร์ จากระดับของวันอังคารที่ 1.2884 ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินปอนด์ดิ่งลง 0.65% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5168 ดอลลาร์ จากระดับ 1.5267 ดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.50% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 87.060 เยน จากระดับของวันอังคารที่ 87.500 เยน และดิ่งลง 0.14% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0507 ฟรังค์ จากระดับ 1.0522 ฟรังค์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.59% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.8781 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันอังคารที่ 0.8833 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 0.53% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7130 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7168 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนลดการถือครองดอลลาร์และสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าดอลลาร์ รวมถึงยูโรและปอนด์ หลังจากเบอร์นันเก้แถลงมุมมองเศรษฐกิจต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐเมื่อคืนนี้ (ตามเวลาประเทศไทย) ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญกับความไม่นอนอย่างไม่ปกติ อันเป็นผลมาจากภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงตกต่ำ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ภาคครัวเรือนจับจ่ายใช้สอยน้อยลงและทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับภาวะที่เปราะบางมาก

เบอร์นันเก้ยังกล่าวด้วยว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอาจทำให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ต้องใช้นโยบายที่จำเป็นเพื่อยับยั้งการชะลอตัว ซึ่งอาจรวมถึงการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง หรืออาจทบทวนการใช้นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจบางด้าน อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่กลับเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงครั้งใหม่

ทั้งนี้ เฟดได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ลงสู่ระดับ 3.0 - 3.5% ซึ่งน้อยกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัวราว 3.2 - 3.7% นอกจากนี้ เฟดยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราว่างงานในสหรัฐว่าจะอยู่ที่ระดับ 9.2 - 9.5% ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 9.1 - 9.5%

นักลงทุนจับตาดูผล stress test ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับดูแลภาคการธนาคารของสหภาพยุโรป (CEBS) จะเปิดเผยในวันที่ 23 ก.ค.นี้ โดยธนาคารพาณิชย์ในยุโรปที่ต้องเข้าทดสอบในครั้งนี้มีอยู่ประมาณ 91 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของอุตสาหกรรมการธนาคารในยุโรป เพื่อทดสอบว่าธนาคารเหล่านี้จะสามารถต้านทานภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและสามารถในการรับมือกับตัวเลขขาดทุน 17% ที่เกิดจากปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลกรีซ และตัวเลขขาดทุน 3% ที่เกิดจากหนี้สาธารณะของสเปนได้หรือไม่

สำหรับธนาคารยุโรปที่เข้ารับการทดสอบครั้งนี้ รวมถึง HSBC, ลอยด์ แบงกิง, บาร์เคลยส์, รอยัลแบงค์ ออฟ สก็อตแลนด์, บีเอ็นพี พาริบาส์, โซซิเอเต เจนเนอราล, ดอยช์ แบงค์ และคอมเมิร์ซแบงค์ เอจี

นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ยอดขายบ้านมือสองเดือนมิ.ย. และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐเดือนมิ.ย. ซึ่งทั้งหมดจะมีการเปิดเผยในวันพฤหัสบดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ