ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มิ.ย.53 ที่ 103.3 เพิ่มจาก 94.7

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 22, 2010 10:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย(Thai Industries Sentiment Index:TISI) ในเดือน มิ.ย.53 อยู่ที่ระดับ 103.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 94.7 ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

"ทั้งนี้เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในองค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองได้คลี่คลายลง ประกอบกับความพยายามของรัฐบาลที่เดินหน้าตามแผนปรองดองแห่งชาติให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการค้าระหว่างประเทศของไทยช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้น" นายพยุงศักดิ์ ระบุในเอกสารเผยแพร่

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 105.0 ในเดือน พ.ค.53 เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการณ์ยังมีความกังวลต่อยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศ เห็นได้จากค่าดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลต่อความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้หากจำแนกตามขนาดของกิจการ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมใหญ่ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นเหมือนกัน โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อมอยู่ที่ระดับ 91.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 81.6 เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองได้คลี่คลายลง โดยองค์ประกอบดัชนีทุกตัวปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นดัชนีต้นทุนประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน อุตสาหกรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสมุนไพร อุตสาหกรรมก๊าซ และอุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้

อุตสาหกรรมขนาดกลางอยู่ที่ระดับ 100.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.5 โดยมีองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงไม้อบ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ อุตสาหกรรมยาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ

และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อยู่ที่ระดับ 119.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 114.0 โดยมีองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอลูมิเนียม

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทั้งนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความสงบมากขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และนักลงทุน เพิ่มมากขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำแนกตามตลาดส่งออก ทั้งกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวสูงขึ้นทั้ง 2 กลุ่ม

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นทางการเมือง ระดับราคาน้ำมัน สภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยังคงมีความกังวลกับปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยุโรป แม้ว่าจะมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และการให้ความช่วยเหลือของธนาคารกลางยุโรปที่ประกาศให้เงินช่วยเหลือก็ยังสร้างความกังวลให้กับนักลงทุน และอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย ในขณะที่มีความกังวลในอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ให้รัฐบาลสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง ขับเคลื่อนแผนปรองดองให้เกิดผลสำเร็จ เร่งดำเนินการชี้แจงและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน อีกทั้งดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมและมีเสถียรภาพ เร่งสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับปัญหามาบตาพุด การปล่อยสินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนการลงทุน และปรับลดภาษีเงินได้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ