วิจัยกสิกรคาดเครื่องชี้ศก.โลกแผ่ว สัญญาณเตือนส่งออกไทยครึ่งปีหลังชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 22, 2010 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 53 โดยมองว่าแม้จะยังมีปัจจัยบวกบางด้านที่อาจเป็นแรงสนับสนุนให้การส่งออกของไทยยังขยายตัวเป็นบวกในช่วงเวลาที่เหลือของปี แต่สัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ปรากฏภาพการชะลอตัวในประเทศชั้นนำของโลกอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้การส่งออกไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า สถานการณ์การชะลอตัวของประเทศต่างๆ เริ่มปรากฏในไตรมาสที่ 2/53 และคาดว่าจะยิ่งชัดเจนขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ โดยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางจากปัญหาวิกฤตหนี้และการขาดดุลการคลังในภูมิภาคยุโรป ซึ่งเป็นผลให้รัฐบาลของหลายประเทศต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกได้หมดลงไปแล้ว

นอกจากนี้เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่มีการเติบโตสูงอย่างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา หรือบางประเทศอาจถึงขั้นร้อนแรงเกินไปนั้น ได้สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและก่อความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ จึงเป็นสาเหตุให้ธนาคารกลางของชาติต่างๆ เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งออสเตรเลีย, อินเดีย, มาเลเซีย, เกาหลีใต้, ไต้หวัน รวมทั้งไทย ส่วนจีนนั้นแม้ยังเลือกที่จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ได้มีการใช้เครื่องมืออื่นๆ ในการควบคุมการเติบโตอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจ เช่น การปรับเพิ่มระดับสำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์, มาตรการคุมเข้มต่อการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการผ่อนปรนให้ค่าเงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น นอกจากนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็สะท้อนภาพที่น่ากังวล จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดที่อ่อนแอลง โดยข้อมูลของศูนย์วิจัยวัฏจักรเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (The Economic Cycle Research Institute: ECRI) ได้ปรากฏสัญญาณความเป็นไปได้ที่เพิ่มขึ้นของโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ไม่ว่าจะเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจรายสัปดาห์, การฟื้นตัวจากกิจกรรมการผลิตและการเพิ่มระดับสินค้าคงคลังเริ่มชะงัก หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐฯ สิ้นอายุลง

"เครื่องชี้ในภาคการผลิตของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่มีทิศทางที่ชะลอตัว สะท้อนว่าผลกระตุ้นของการเร่งผลิตและสะสมสินค้าคงคลังของภาคธุรกิจทั่วโลก ซึ่งผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเบาบาง และภาพของการชะลอตัวน่าจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นในครึ่งหลังของปี" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้ครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยจะมีทิศทางที่สดใส สามารถขยายตัวถึง 36.6% โดยได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการขยายการส่งออกภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี จนทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้เป็น 19% จากเดิม 14% นั้น แต่แนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องมุ่งรักษาวินัยทางการคลัง ทำให้การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังเช่นที่เคยผ่านมาคงเป็นไปได้ยากขึ้น

ขณะที่นโยบายการเงินของประเทศกำลังพัฒนาเริ่มกลับคืนสู่ระดับปกติที่เป็นกลาง (Neutral) มากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปยังไม่คลี่คลายลงอย่างสมบูรณ์ ทำให้ความวิตกกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบสอง (Double-Dip Recession) ในบางประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ นั้นยังคงมีอยู่ แม้ความเป็นไปได้ (Probability) อาจยังไม่สูงในขณะนี้

"มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 53 อาจเติบโตในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ที่ 17% จากที่ขยายตัวสูงถึง 36.6% ในช่วงครึ่งปีแรก โดยในไตรมาสที่ 3/53 แม้คาดว่าชะลอตัวแต่น่าจะเติบโตได้ 25% เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบในปีก่อนที่ยังเป็นช่วงหดตัว แต่อัตราการขยายตัวจะค่อยๆ ต่ำลงจนเหลือเป็นตัวเลขหลักเดียวในช่วงปลายปี" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

โดยคาดว่า การส่งออกของไทยทั้งปี 2553 น่าจะขยายตัวในอัตราที่เคลื่อนเข้าใกล้กรอบบนของประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย 22-27%

สำหรับการเติบโตสูงของการส่งออกนี้ จะหนุนให้ระดับการเกินดุลการค้าของไทยอาจมีมูลค่าสูงเกิน 10,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ซึ่งจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะผลักดันให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อไปได้อีก และอาจมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทย เมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศที่มีค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่า โดยเฉพาะเวียดนามที่มีการลดค่าเงินมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นทิศทางที่ผู้ประกอบการควรต้องเตรียมรับมือ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ