นายกฯ เผยตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 22, 2010 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรัฐมนตรีเผยรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีต้นทุนลดลงเหลือ 15% ของ GDP เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก จากปัจจุบันที่ยังมีต้นทุนสูงเกือบ 20% ขณะที่บรรดาประเทศพัฒนาแล้วมีต้นทุนต่ำกว่า 10%

"ปัญหาระบบโลจิสติกส์ของไทยยังมีต้นทุนสูงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ขณะที่ประเทศอื่นที่พัฒนาแล้วต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้เพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพื่อให้ประเทศไทยลดต้นทุนและแข่งขันกับประเทศอื่นได้จึงต้องพัฒนาระบบการขนส่งให้มีความพร้อม" นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา "ทางออกวิกฤติโลจิสติกส์ไทย" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การคมนาคม วุฒิสภา

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์จากปัจจุบันให้เหลือ 15% ของจีดีพีโดยเร็วที่สุด และยังมุ่งให้เหลือเพียง 10% ของจีดีพีเมื่อพัฒนาทุกด้านให้ความสมบูรณ์ ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติแผนซ่อมแซมระบบราง การแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนนับพันจุดใน 5 ปีข้างหน้า โดยใช้งบประมาณราว 1.7 แสนล้านบาท และเร็ว ๆ นี้จะมีการเสนอ ครม.ให้พิจารณาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงด้วยการเชิญภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศมาร่วมลงทุน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้

ด้านนายธนิต โสรัตน์ เลขานุการอนุ กมธ.ด้านโลจิสติกส์ กล่าวว่า เป้าหมายในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของรัฐบาลต้องพัฒนาหลายส่วนซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้น้อยมาก อีกทั้งธนาคารโลกได้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของไทยในปี 53 อยู่อันดับที่ 35 ลดลงจากอันดับที่ 31 ในปี 50

สำหรับแนวทางการลดต้นทุนขนส่งต้องพยายามเปลี่ยนรูปแบบการขนสินค้าทางถนนที่มีสัดส่วน 88% ของการขนส่งสินค้าทั้งหมด ซึ่งเป็นการขนส่งที่ใช้เชื้อเพลิงสูงมาก โดยเปลี่ยนไปสู่การขนส่งระบบรางซึ่งประหยัดกว่า 3.5 เท่า แต่กลับมีสัดส่วนการใช้เพียง 2.3%

นอกจากนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ และโครงการขนาดใหญ่ประสบปัญหาเรื่องการทำประชาพิจารณ์ ทำให้การพัฒนาล่าช้ามาก และหากจะส่งเสริมให้มีการขนส่งระบบรางมากขึ้นจะต้องปฏิรูปโครงสร้างของ รฟท.เพื่อให้มีการดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลดต้นทุนโลจิสติกส์ไม่จำเป็นต้องสร้างถนนหรือพัฒนาการขนส่งระบบรางเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือการพัฒนาระบบการบริหารคลังสินค้า ซึ่งมีสัดส่วน 42% ของต้นทุนรวม หรือมีมูลค่า 7.5 แสนล้านบาท ส่วนการบริหารจัดการโลจิสติกส์มีสัดส่วน 9% ของต้นทุนรวม หรือมีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมต้นทุนทั้ง 2 ด้านแล้วจะมีมูลค่ามากกว่าต้นทุนด้านขนส่งที่มีสัดส่วน 49% ของต้นทุนรวม หรือมีมูลค่า 823,000 ล้านบาท

ดังนั้นการพัฒนาคลังสินค้าบริหารจัดการโลจิสติกส์จึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน การปรับเปลี่ยนให้เอกชนพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูล และการปรับปรุงอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าของกรมศุลกากร และการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลไปลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพราะหากสามารถแก้ปัญหาทุกส่วนไปพร้อมกันก็จะสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ