(เพิ่มเติม) คณะทำงานแปรสัญญา 2G แบ่งกลุ่มกม.-เทคนิค-ผลตอบแทน,เอกชนห่วง 3G แท้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 22, 2010 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวว่า คณะทำงานชุดหาแนวทางแปรสัญญาสัมทปานให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเดิม จะมีการประชุมเพื่อหารือกันอีกครั้งในวันนี้ หลังจากวานนี้พบว่ามีเนื้อหาที่ต้องพิจารณาค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้คณะทำงานได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค และ ผลตอบแทนทางการเงิน ทั้งในแง่ของผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐ และประชาชน

"เราจะประชุมวันนี้อีกครั้งเพื่อที่จะแจกจ่ายการบ้านให้แต่คนทำในช่วงวันหยุด เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรอบคอบตามโจทย์ที่คณะรัฐมนตรีให้ไว้...ให้แต่ละคณะทำงานไปหาข้อมูลและศึกษาเพื่อนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมในวันพุธหน้า"นายจุติ กล่าว

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) กล่าวว่า การแปลงสัญญาสัมปทาน 2G มาเป็นใบอนุญาตนั้น เป็นแนวทางที่รัฐบาลต้องการปกป้องผลประโยชน์ให้กับบมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม

อย่างไรก็ตาม เอกชนก็ยังมี 2 แนวทางเลือก โดยหากเงื่อนไขแปลงสัญญาทำได้ก็จะดำเนินการ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็เข้าประมูล 3G ไปตามเดิม ซึ่งก็มีการแข่งขันเท่าเทียมกัน ซึ่งทางเอกชนก็ต้องรอดูรายละเอียดอีกครั้ง

นายศุภชัย ปฏิเสธว่าไม่เคยออกมาระบุว่าทรูมูฟจะได้เปรียบจากการแปรสัญญา เพราะระยะเวลาที่เหลืออยู่ก็มีน้อยมากแค่ 3 ปีเท่านั้น แต่ถ้าสามารถแปรสัญญาสัมปทานได้อย่างที่รัฐบาลต้องการก็จะทำให้เกิดประโยชน์ที่เอกชนทุกรายจะไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน ส่งผลให้ต้นทุนของเอกชนลดลงด้วย

ทั้งนี้ หลักการประมูลใบอนุญาต 3G ทางทรูมูฟก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้กำหนดราคาเริ่มประมูลในราคาสูง เพราะส่วนใหญ่การประมูลใบอนุญาตโทรคมนาคมในเอเชียใช้ราคา reserve price และแข่งกัน rollout ให้เร็วที่สุด ขณะที่แนวทางที่ กทช.ใช้เป็นแนวทางที่ใช้ในแถบประเทศยุโรป

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธาน เจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC)กล่าวว่า การแปรสัญญาสัมปทานเป็นประเด็นที่ กทช. กระทรวงการคลัง และ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)จะต้องคุยกันเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันก่อนที่จะเปิดเจรจากับเอกชน เพราะขณะนี้ต่างคนต่างมองไม่เหมือนกัน

นอกจากนั้น ในส่วนที่ กทช.ออกกฎระเบียบให้คืนคลื่นความถี่เดิมหากเข้าชนะประมูล 3G นั้น กทช.ควรจะมีแผนในการพัฒนาคลื่นความถี่ที่จะเรียกคืนก่อนว่าจะนำไปใช้ทำอะไร นำไปเปิดประมูลใหม่ หรือใช้เพื่อสาธารณะ

นายธนา กล่าวว่า การประมูลใบอนุญาต 3G นั้น ยังกังวลว่าการประมูลอาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะมีหลายฝ่ายเตรียมที่จะฟ้องร้อง กทช.ในการเปิดประมูล

"เราก็กำงวลว่าเรื่องนี้จะแท้งก่อนกำหนด เปิดประมูลไมใด้ เพราะมีคนรอฟ้องอยู่แล้ว"นายธนา กล่าว

ด้านนายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) กล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังเสนอให้เกลี่ยอายุสัมปทานเดิมที่เหลือให้เท่าๆกัน ก็ต้องดูข้อกฎหมายให้รอบคอบและต้องได้รับการยอมรับจากเอกชนทุกราย แต่เท่าที่ดูตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมจะให้ใบอนุญาตตามอายุสัมปทานที่เหลือหากคู่สัญญาตกลงกันได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าครั้งนี้ทางภาครัฐเสนอโมเดลแล้วตกลงกันไม่ได้ ก็คิดว่าควรจะปล่อยให้หมดอายุสัมปทาน และคิดว่าการไม่แปรสัญญาสัมปทานเป็นใบอนุญาตจะเพิ่มภาระให้กับประชาชนทั่วไป

ขณะที่หากบริษัทได้ใบอนุญาต 3G ก็ยังต้องเช่าใช้โครงข่ายจากทีโอที ซึ่งคงจะเช่าเกือบหมด เพราะต้องครอบคุลมทั่วประเทศ ซึ่งตามเกณฑ์ที่ กทช.กำหนดให้บริการครอบคลุม 50% ของประชากรในสิ้นปีที่ 2 คาดว่าปีแรกหลังจากบริษัทได้รับใบอนุญาต 3G ก็จะนำเข้าเครื่องมืออุปกรณ์ทันที เพื่อเร่งการขยายบริการครอบคลุมให้มากที่สุด โดยปีแรก คาดว่าจะครอบคลุมทั่วกรุงเทพ และจังหวัดใหญ่ โดยมีงบลงทุนทั้งหมด 4.5 หมื่นล้านบาท โดยปีแรกลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ไม่รวมค่าประมูลใบอนุญาต

ทั้งนี้ ทรูมูฟ มีอายุสัญญาสัมปทาน เหลืออยู่ 3 ปี ADVANC เหลืออายุ 5 ปี และ DTAC เหลืออยู่ 8 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ