เอกชนติงจำนวน กสทช. มากเกิน-อยากได้คนรู้จริง ขอเพิ่มสายโทรคมนาคม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 22, 2010 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอกชนภาคโทรคมนาคม มองจำนวนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 15 คน มากเกินไป และควรจะเพิ่มกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมมากกว่า 1 ราย และไม่เห็นด้วยที่ผู้สมัครจะต้องได้รับการเสอนขื่อจากกลุ่มหรือองค์กรใด เพราะจะเข้ามาทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มมากกว่าส่วนรวม รวมทั้งขอบเขตการทำงานของคณะกรรมการ กสทช.ต้องไม่กว้างมากจนเกินไป

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธาน เจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) เห็นว่า จำนวนคณะกรรมการ กสทช. ที่กำหนดไว้ 15 คน หรือ อาจจะมี 11 คน ก็มองว่ามากเกินไป และมีผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการโทรคมนาคมน้อยไป โดยเห็นว่าน่าจะมีมากกว่า 1 ราย เพราะกังวลว่ากว่าคณะกรรมการจะเข้าใจอาจจะต้องใช้เวลามาก และอาจจะทำให้การออกกฎเกณฑ์ล่าช้าไป

"ในฐานะผู้ประกอบการ ต้องการให้กรรมการทำงานเต็มเวลา สำนักงานมีความแข็งแกร่ง เราเห็นว่าคณะกรรมการมีจำนวนเยอะเกินไป จะ 15 หรือ 11 คน แต่ต้องการขอให้ได้คนรู้จริง แต่ละคนเข้ามาก็ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง ตัวเองก็ยังมีอำนาจอยู่ในมือด้วย"นายธนา กล่าวในงานสัมนา "กิจการสื่อสาร พ.ร.บ. กสทช.กับอนาคตประเทศไทย" ที่จัดโดยสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย

ส่วนนายอธึก อัศวานนท์ รองประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) กล่าวว่า การคัดเลือกคณะกรรมการ กสทช.ควรจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน เพราะเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่ต้องตามให้ทัน โดยเสนอให้กำหนดผู้สมัครอายุตั้งแต่ 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี รวมทั้งผู้สมัตรควรจะเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับองค์กรใด เช่นเดียวกับการคัดสรรคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ไม่เช่นนั้นบุคคลที่เข้ามาจะมีพันธะในการปกป้องดูและผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง

นอกจากนี้ ไม่เห็นด้วยที่กำหนดให้ผู้สมัครต้องลาออกจากธุรกิจหนึ่งปี เพราะจะทำให้ไม่มีใครเข้ามาสมัคร และอาจจะไม่ได้บุคลลที่มีความรู้ความสามารถจริง

"เป็นที่น่าแปลกว่า กสทช.ต้องเก่งทุกอย่าง เป็นทั้งนักกฎหมาย นักวิชาการ"นายอธึก กล่าว

นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เห็นว่าการออกกฎหมาย กสทช.ควรคำนึงถึงถึงเทคโนโลยีที่ต้องตามให้ทัน โดยต้องพยายามลดช่องว่างให้มากที่สุด

นายมนต์ชัย หนูสูง ผู้แทนจากบมจ.ทีโอที เห็นว่า คณะกรรมการ กสทช. มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ ทั้งวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ โทรคมนาคม และกำกับกิจการทั้ง 3 อย่าง ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ฉะนั้นการคัดเลือกกรรมการ ต้องเป็นผู้ต้องรู้จริง

ด้านนายวิชัย เบญจรงคกุล นายกสมาคมกิจการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย เห็นว่า การคัดสรร กรรมการ กสทช.ต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องไม่อิงกับกลุ่มผลประโยชน์ใด และยังกังวลว่า หากคณะกรรมการ กทช.ยุบไป จะทำให้กฎเกณฑ์ที่กทช.ได้ออกไปแล้วจะมีผลอยู่หรือไม่อย่งไร

ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.... ได้ผ่านขั้นตอนวุฒิสภาแล้ว และจะกลับมาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฏรประมาณไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ซึ่งหากเห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภาก็จะผ่าน แต่หากไม่เห็นด้วยก็จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ