นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า การที่ รมว.คลัง มาร่วมหารือในวันนี้เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาประเมินผลการใช้กรอบอัตราเงินเฟ้อ(Inflation Targeting) ได้แก่ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะสรุปผลการประเมินได้ภายในเดือน ส.ค.นี้
"ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะดูผลดีผลเสียหลังจากที่เราใช้กรอบเงินเฟ้อมาตั้งแต่ปี 43 ในสิ่งที่ประเมินและรายงานเราถ้ามีคำแนะนำอะไรก็พร้อมจะพิจารณา แต่ก็ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตาม"นางธาริษา กล่าวภายหลังร่วมหารือพร้อมกับ รมว.คลัง
ทั้งนี้ โดยปกติ ธปท.จะมีการประเมินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในช่วงสิ้นปี ร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดกรอบของปีถัดไป แต่เป็นการกำหนดกรอบรายไตรมาส ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 0.5-3.0% ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจ ณ ขณะนี้ โดยเป็นกรอบที่แคบลงกว่าในอดีตที่เคยอยู่ที่ 0.5-3.5% และประชาชนก็เข้าใจแล้วว่าเป็นเป้าหมายที่เหมาะสม ธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)สามารถดูแลอัตราเงินเฟ้อได้ดีกว่าเดิม
นางธาริษา กล่าวถึงการคิดค่าธรรมเนียมและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินว่า ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้ แม้ว่าทางรัฐบาลจะแสดงความเป็นห่วงและขอให้ ธปท.ดูแลให้มีความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ ธปท.เห็นว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM) ของไทยที่ระดับเฉลี่ย 2.9% ไม่ได้สูงเกินไปเมื่อเทียบกับภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ ขณะที่บางประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในระดับสูงถึง 5-6% มีเพียงมาเลเซียและสิงคโปร์ที่อยู่ในระดับ 2.2%
NIM ของสถาบันการเงินในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นมาตามลำดับจากที่เคยอยู่ในระดับ 3.2-3.3% ในช่วง 2-3 ปีก่อน ซึ่งธปท.และธนาคารพาณิชย์ก็เข้าใจเรื่องนี้ดีหลังจากที่หารือกันในช่วงต้นปีนี้ ทั้งธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างชาติ ก็ได้ทยอยกันปรับลดลงมาตั้งแต่เดือนเม.ย. และในช่วงมิ.ย.พวก non-bank ก็ปรับลดลงมา
จากที่บางแห่งเคยคิดค่าธรรมเนียมเป็น % ของหนี้ แต่หลังจากที่พูดคุยไปแล้วก็ไม่ควรจะเก็บในลักษณะดังกล่าว ก็ได้ปรับมาเรียกเก็บตามความเป็นจริงแล้ว และธนาคารขนาดใหญ่ไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม แต่การบริการบางตัวก็เรียกเก็บบ้าง ซึ่งก็อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลราว 200-300 บาท ไม่ได้เก็บเป็นหลักพันเหมือนก่อนหน้านี้
ธปท.ยังได้ศึกษาระบบการชำระเงิน พบว่ามีหลายแนวทางจะนำมาใช้อย่างเหมาะสม เช่นยกเลิกใช้เงินสดมาใช้อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งค่าธรรมเนียมก็จะถูกลง หรือการใช้เช็ค ที่ขณะนี้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ก็ควรหันไปใช้อิเล็กทรอนิกส์มากกว่า
"แบงก์ชาติไม่ได้เข้าข้างใคร โดยเรื่อง NIM ของแบงก์ดูแล้ว ไม่ใช่แค่เอาดอกเบี้ยกู้และฝากมาลบกัน ซึ่งไม่ถูกต้อง"นางธาริษา กล่าว