ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยอานิสงส์ FTA ดันส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารพุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 28, 2010 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมตลอดทั้งปี 2553 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามความต้องการสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ยังคงขยายตัว และอานิสงส์จาก FTA กรอบต่างๆ ที่ยังส่งผลให้การส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องจับตามอง คือ สภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ภาวะการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอุปสรรคสำคัญที่ประเทศคู่เจรจานำมาใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น ได้แก่ มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อากรทางศุลกากร (Non-Tariff Barrier Measures : NTMs)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรตลอดทั้งปี 2553 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 18,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 (y-o-y) โดยประเทศคู่ค้าสำคัญคือ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3(y-o-y) หรือเพิ่มขึ้นเป็น 13,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ อาเซียน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

การปรับลดอัตราภาษีของสินค้าเกษตรและอาหารลงเหลือร้อยละ 0 มีส่วนช่วยให้สินค้าที่ส่งออกจากไทยมีราคาต่ำลง ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดที่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับไทย ซึ่งการลดภาษีในปี 2553 โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนเดิม 6 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นการลดเพิ่มเติมจากที่ทยอยลดภาษีลงมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ในปี 2559-2563 กรอบการลดภาษีจะเห็นผลชัดเจนมากขึ้น จากการที่สินค้าอ่อนไหวส่วนใหญ่ต้องลดภาษีเป็นร้อยละ 0-5

ทั้งนี้ ผลของการปรับลดภาษีในกรอบ FTA ต่างๆ มีส่วนผลักดันให้มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2553 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าสำคัญ และเป็นคู่เจรจา FTA กล่าวคือ การส่งออกสินค้ากสิกรรม(สินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้น)ไปยังจีน และอาเซียน เพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกสินค้ากสิกรรมในช่วงครึ่งแรกปี 2553 โดยเฉพาะยางและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังตลาดจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 90.5 (y-o-y) มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 84.7(y-o-y) หรือเพิ่มขึ้นเป็น 1,513 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าแปรรูป (สินค้าประมง ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมเกษตร) ไปยังตลาดอาเซียนขยายตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ผักผลไม้กระป๋อง และผลิตภัณฑ์ข้าว โดยมูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 2,258 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.8(y-o-y)

ในด้านการนำเข้าในช่วงครึ่งแรกปี 2553 มูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบหรือวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปจากกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งสนับสนุนแนวคิดที่ไทยจะมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค คือ นำเข้าวัตถุดิบมาผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งออกกลับไปยังอาเซียน และประเทศอื่นๆ เนื่องจากไทยมีมาตรฐานการผลิต และสุขอนามัยในการผลิตที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปจากอาเซียนในช่วงครึ่งแรกปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 611 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4

ประเด็นที่ยังต้องติดตามภายหลังการเปิด FTA กรอบต่างๆ ก็คือ การเปิดเสรีเกษตรและอาหารในปัจจุบัน อุปสรรคด้านภาษีไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เนื่องจากประเทศคู่เจรจาลดอัตราภาษีสินค้าส่วนใหญ่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำแล้ว แต่อุปสรรคสำคัญที่ประเทศคู่เจรจานำมาใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น ได้แก่ มาตรการมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อากรทางศุลกากร (Non-Tariff Barrier Measures : NTMs) ทั้งมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าระหว่างประเทศโดยทั่วไป (Technical Barriers to Trade : TBT ) และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures : SPS) ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่อาจมีความสามารถในการรับมือได้มากกว่าธุรกิจ SMEs

นอกจากนี้ ในระยะยาวไทยต้องเตรียมรับมือกับข้อพิพาททางการค้าเกี่ยวกับมาตรการมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อากรทางศุลกากร ซึ่งปัจจุบันอาเซียนกำลังมีการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหา NTMs ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการของไทยสามารถปรับตัว โดยสามารถผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรการ TBT/SPS ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และหากทำได้ตามแหล่งกำเนิดของสินค้าก็น่าจะได้สิทธิประโยชน์จาก FTA กรอบต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ