นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้อนุมัติงบประมาณให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 447.34 ล้านบาท ในการดูแลผลผลิตลำไยและผลไม้ในภาคใต้ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา ซึ่งถึงแม้ในปีนี้ผลผลิตจะมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนแต่ผลผลิตยังคงออกสู่ตลาดในลักษณะกระจุกตัว โดยแบ่งเป็นงบประมาณเพื่อดูแลลำไยภาคเหนือ 176.68 ล้านบาท และผลไม้ภาคใต้ 270.66 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณ จำนวน 176.68 ล้านบาท ของลำไยในภาคเหนือ ได้แบ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 จำนวน 100 ล้านบาท ให้กับสถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดซื้อลำไยสด เพื่อเร่งระบายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต และอีกส่วนคือเงินจ่ายขาด จำนวน 76.68 ล้านบาท ให้กับสถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้เข้าร่วมโครงการ โดยแยกงบประมาณเป็นการชดเชยค่าบริหารจัดการและค่าขนส่งเหมาจ่ายในเงิน 20 ล้านบาท การชดเชยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับการแปรรูปลำไยเนื้อสีทองในเงิน 6 ล้านบาท และสำหรับการแปรรูปลำไยอบแห้งทั้งเปลือก วงเงิน 30 ล้านบาท การจัดงานรณรงค์และส่งเสริมการบริโภคลำไยในประเทศในจังหวัดปลายทางที่มีศักยภาพ วงเงิน 4 ล้านบาท การส่งเสริมการบริโภค ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดในต่างประเทศ วงเงิน 15 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการโครงการ วงเงิน 1.68 ล้านบาท
ส่วนงบประมาณในส่วนของผลไม้ภาคใต้ที่ คชก.ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 270.66 ล้านบาท จะแบ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ย จำนวน 80 ล้านบาท ให้กับสถาบันเกษตรกร ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อกู้ยืมไปเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อ - ขาย ผลไม้ และเงินจ่ายขาด จำนวน 190.66 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการรวบรวมผลผลิตและจัดการคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของสถาบันเกษตรกรวงเงิน 25 ล้านบาท การสนับสนุนค่าบริหารจัดการตลาดเหมาจ่ายและชดเชยค่าขนส่ง วงเงิน 150 ล้านบาท การสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ วงเงิน 10.11 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการโครงการ วงเงิน 5.55 ล้านบาท โดยการดำเนินการดังกล่าว จะช่วยรักษาระดับราคาไม่ให้ตกต่ำในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของเกษตรกร