นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวปี 53 เพื่อสะท้อนข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ต่อภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้นำผลการสำรวจไปใช้เป็นแนวทางในการติดตามนโยบาย ประเมินผล และปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป
ทั้งนี้จากการสำรวจ พบว่า 1.ประเภทของธุรกิจการท่องเที่ยว : สถานประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผ่านการประเมินมาตรฐาน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรม/รีสอร์ท/โฮมสเตย์ 53.9% รองลงมาเป็น ธุรกิจนำเที่ยว/มัคคุเทศก์ 24.1% ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 15.1% และธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ (เดินป่า, ล่องแก่ง, ดูนก) 6.9%
2. ลักษณะของกิจการ : สถานประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผ่านการประเมินมาตรฐาน ส่วนใหญ่มีลักษณะของกิจการเป็นบริษัทจำกัด, บริษัทจำกัด(มหาชน) 55.9% รองลงมาเป็น กิจการท่องเที่ยวส่วนบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่เป็นนิติบุคคล 18% และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล, ห้างหุ้นส่วนจำกัด 11.4% ขณะที่กิจการท่องเที่ยวอื่นๆ (วิสาหกิจชุมชน, กลุ่มชุมชน) 14.7%
3. สถานการณ์การท่องเที่ยวปี 53 เทียบกับปี 52 : ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผ่านการประเมินมาตรฐาน 41.2% เห็นว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวในภาพรวมปี 53 ดีขึ้น มองว่าเหมือนเดิม 26.1% และมองว่าแย่ลง 32.7%
4. ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ และสาเหตุที่ทำให้ได้รับผลกระทบ : การได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น การเมือง, การเงิน, โรคระบาด ฯลฯ ของสถานประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผ่านการประเมินมาตรฐานฯ พบว่า 91.8% ได้รับผลกระทบ และ 8.2% ไม่ได้รับผลกระทบ
สำหรับสาเหตุที่ทำให้สถานประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวฯ ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ พบว่า 5 อันดับแรก คือ มาจากความไม่สงบ/ความขัดแย้งภายในประเทศ รองลงมา ปัญหาด้านการเมือง, ปัญหาเศรษฐกิจโลก, ปัญหาโรคระบาด เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และราคาน้ำมันแพง
5. ความต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยว : ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผ่านการประเมินมาตรฐาน ระบุเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยว 5 อันดับแรก คือ อันดับหนึ่ง ต้องการให้รัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ รองลงมา ต้องการให้ประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ด้านท่องเที่ยวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง, ต้องการให้ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว, ต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว และต้องการให้รักษาความสะอาดแหล่งท่องเที่ยว
6. ความพึงพอใจต่อมาตรการธุรกิจการท่องเที่ยวของภาครัฐผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผ่านการประเมินมาตรฐานฯ ระบุว่า พึงพอใจต่อมาตรการต่างๆ ของภาครัฐเกินกว่า 80% โดยมีมาตรการที่พึงพอใจกว่า 90% คือ มาตรการปรับแผนอบรม, จัดประชุมสัมมนา โดยให้ส่วนราชการจัดประชุมสัมมนาในประเทศให้มากขึ้นแทนการจัดประชุมสัมมนาในต่างประเทศ และมาตรการประกันภัยคุ้มครองชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในกรณีเกิดจลาจล
7. การทราบโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน : การเข้าร่วมโครงการฯ และความพึงพอใจต่อโครงการฯ พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผ่านการประเมินมาตรฐานฯ ถึง 53.5% ระบุว่า ไม่ทราบเกี่ยวกับโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินของภาครัฐ และมี 46.5% ที่ทราบ สำหรับผู้ประกอบการที่ทราบโครงการนี้มี 77.2% ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ และ 22.8% เข้าร่วมโครงการฯ โดยในกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการฯ พบว่า 88.5% ระบุว่าพึงพอใจต่อโครงการ และไม่พอใจ 11.5%
8. การทราบและการใช้เว็บท่องเที่ยว 2.0 แพลตฟอร์ม : ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผ่านการประเมินมาตรฐานฯ จำนวน 78.8% ไม่ทราบเกี่ยวกับเว็บท่องเที่ยว 2.0 แพลตฟอร์ม (เป็นเว็บที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสามารถเข้ามาใช้งานต่อเชื่อมเข้ากับระบบ โดยไม่ต้องลงทุนระบบทั้งหมดเอง และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวได้เอง) และมี 21.2% ที่ทราบ
สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มที่ทราบเว็บท่องเที่ยว 2.0 แพลตฟอร์ม พบว่า 61.5% ได้ใช้เว็บนี้ และ 38.5% ไม่ได้ใช้ โดยในกลุ่มที่ใช้เว็บท่องเที่ยวฯ นี้ส่วนใหญ่เห็นว่าสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจท่องเที่ยวได้ มีเพียงส่วนน้อยที่ระบุว่าไม่ได้ช่วยอะไร
9. ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการช่วยเหลือ/แก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยว : ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผ่านการประเมินมาตรฐานฯ จำนวน 40.4% ระบุว่า มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น ขณะที่ 20% ไม่เชื่อมั่น และอีก 39.6% ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ
10. ข้อคิดเห็น/แนวทางที่จะทำให้เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวดีขึ้น : ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผ่านการประเมินมาตรฐานฯ ในทุกสถานประกอบการ ได้ให้ข้อคิดเห็น-แนวทางต่างๆ ที่คิดว่าจะทำให้เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวดีขึ้น ดังนี้ ควรเตรียมแผนเชิงรุก เพื่อรองรับวิกฤตด้านการท่องเที่ยว, ควรพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างจริงจัง, ภาครัฐควรให้ทุนสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และควรพัฒนาบุคคลากรในธุรกิจการท่องเที่ยว
อนึ่ง สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว พ.ศ.2553 โดยส่งแบบสอบถามถึงผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผ่านการประเมินมาตรฐานจากสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว 638 ราย ระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค.53 ได้รับแบบสอบถามกลับคืนมา 245 ราย หรือคิดเป็น 38.4%