สศค.เผยเศรษฐกิจเดือน มิ.ย.โตต่อเนื่อง ตามการส่งออกที่ขยายตัวสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 29, 2010 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เผยภาวะเศรษฐกิจของไทยในเดือน มิ.ย.53 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูงที่ระดับ 46.3% โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นในแทบทุกหมวดสินค้าส่งออกและแทบทุกตลาด ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวที่ 21.2% และปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 41.5% นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้หลังจากเหตุการณ์ทางการเมือง โดยหดตัวเพียงเล็กน้อยที่ -1.1% สะท้อนการปรับตัวเข้ามาสู่ภาวะปกติของภาคการท่องเที่ยว

"สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ซึ่งเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 น่าจะสามารถขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2553" นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.53 ที่ขยายตัวได้ดีจะส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง ทั้งจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นสูงมากสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ที่ 41.5% ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงปรับตัวสูงขึ้นที่ 15.2%

"เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2553 ฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง" นายเอกนิติ กล่าว

ทั้งนี้ การส่งออกในเดือน มิ.ย.และไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ขยายตัวได้ในระดับสูง, การบริโภคภาคเอกชนมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง, การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นมาก, นโยบายการคลังยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องสะท้อนได้จากรายจ่ายรัฐบาล, ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ภาคเกษตรเริ่มฟื้นตัว ภาคบริการจากการท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว และมีเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ