กษ. เตรียมยกร่างแผนพัฒนาการเกษตรเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาในแผนฯฉบับ 11

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 2, 2010 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้เตรียมการยกร่างแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555 - 2559) ซึ่งได้ดำเนินการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นและรวบรวมความต้องการจากทุกภาคส่วนในทุกจังหวัดทั่วประเทศเรียบร้อยเมื่อเดือนมิถุนายน — กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งสิ้นจำนวน 4 ครั้งใน 4 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครอบคลุมพื้นที่ 19 จังหวัด ภาคใต้ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด ภาคเหนือครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และภาคกลางครอบคลุมพื้นที่ 26 จังหวัด โดยเน้นให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ คือเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมประมาณ 210 คน จากจำนวนผู้ที่เข้าสัมมนารวม 4 ครั้งรวมทั้งสิ้นประมาณ 650 คน เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาของภาคเกษตรผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เป็นกรอบการดำเนินงานในระยะเวลา 5 ปี

เบื้องต้นผลสรุปจากการระดมความคิดเห็นจากการสัมมนาและสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องทางการเกษตรทั้ง 4 ภาคนั้น สามารถจำแนกแนวทางการพัฒนาการเกษตรแบ่งเป็น 9 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 2.การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร เพื่อพัฒนาหรือเสริมสร้างความเข้มแข็ง และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร 3.ส่งเสริมการทำการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้เกษตรกรในระดับครัวเรือน

4.ส่งเสริมการทำการเกษตรในรูปแบบของการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ(Cluster) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร 5.การสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน โดยให้การศึกษาและส่งเสริมความรู้เรื่องอาหารตลอดจนกระบวนการผลิต ได้แก่การดำเนินงานให้อาหารมีคุณภาพเป็นอาหารที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภครวมทั้งเพียงพอสำหรับเลี้ยงประชากร 6.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาคเกษตร เพื่อขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยประสิทธิภาพและนวัตกรรม โดยการนำภูมิปัญญาผนวกกับวัฒนธรรมที่ดีงามในท้องถิ่นและเทคโนโลยี่ มาสร้างมูลค่าให้สินค้าเกษตร มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น 7.เศรษฐกิจการเกษตรสีเขียว หรือการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินนโยบายและกำหนดวิธีปฏิบัติให้สามารถ ใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน 8.ความร่วมมือและข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยติดตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อการปรับตัวและกำหนดมาตรการรองรับ ให้ภาคธุรกิจและภาคเกษตรภายในประเทศมีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ และ 9.การพัฒนาบทบาทการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงตามสถาการณ์เศรษฐกิจและสังคมโลกาภิวัฒน์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ