นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คาดว่า จะสามารถรายงานแนวทางการแปรสัญญาสัมปทานโทรคมนาคมให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบในวันที่ 24 ส.ค.ตามที่ ครม.อนุมัติแต่งตั้งคณะทำงานและให้เวลาศึกษาแนวทางดังกล่าวภายใน 30 วันเพื่อให้ได้ข้อสรุปและไม่ให้กระทบกับการประมูลใบอนุญาต 3G
แม้ว่าขณะนี้คณะทำงานจะยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถสรุปการเจรจากับภาคเอกชนได้ทันหรือไม่ แต่ก็เชื่อว่าจะมีข้อสรุปแนวทางและมีทางออกหลังจากได้ข้อมูลดิบมาแล้วกว่า 75% และข้อมูลที่เป็นผลวิเคราะห์ราว 40%
"คณะทำงานไม่มั่นใจว่าจะเสนอได้ทัน แต่ผมบอกว่าต้องทำเสร็จในทัน และเชื่อว่าจะมีทางออก แม้ว่าโจทย์ที่ได้จะหิน แต่เชื่อว่าทำดีกว่าไม่ทำ คณะทำงานก็ยังมีความหวังว่าจะทำให้ได้"นายจุติ กล่าวภายหลังการหารือร่วมกันระหว่างคณะทำงานและภาคเอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย
คณะทำงานได้มีการหารือกับคณะกรรมการประกอบกิจการโทรคมนาคม(กทช.)ในประเด็นกฎหมาย เชื่อว่าจะไม่มีทางตัน โดยเฉพาะในแง่ของการออกใบอนุญาตเป็นเวลา 15 ปีแทนการให้สัมปทานเชื่อว่าจะมีทางออก แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีการประสานงานกับเอกชนทั้ง 3 รายที่จะต้องเห็นพ้องด้วยกันถึงการแปรสัญญาสัมปทาน และเรื่องของกทช.ที่จะต้องเป็นผู้ออกใบอนุญาต รวมถึงการตกลงกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้สูญเสียรายได้จากการแปรสัญญาสัมปทาน
นายสมประสงค์ บุญยะชัย รองประธานกรรมการ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) กล่าวว่า คณะทำงานและเอกชนน่าจะสามารถร่วมมือกันทำงานเรื่องนี้ได้หากยึดหลักให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เนื่องจากบรรยากาศการหารือเป็นไปได้วยดี เรื่องที่หารือในวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎหมาย สิทธิประโยชน์ และด้านเทคนิค ซึ่งเห็นว่าคณะทำงานมีความชัดเจน โดยบริษัทก็พร้อมจะให้ความร่วมมือกับทางราชการ
"ผมมีความเชื่อว่าจะมีการหารืออย่างใกล้ชิดต่อไป ท่าทีในที่ประชุมดีมาก เรื่องอายุใบอนุญาต 15 ปีก็เป็นแนวความคิด แต่ยังไม่ใช่ข้อตกลงหรือข้อสรุป"นายสมประสงค์ กล่าว
ด้านนายรอม หิรัญพฤกษ์ หนึ่งในคณะทำงานฯ กล่าวว่า การหารือในวันนี้มองว่าด้านกฎหมายไม่น่าจะเป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรค โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสัมปทานมาเป็นใบอนุญาต ส่วนเรื่องค่าแรกเข้าและค่าใบอนุญาตยังไม่มีข้อสรุป เพราะแต่ละรายมีเงื่อนของสัญญาสัมปทานที่ไม่เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม คณะทำงานจะพยายามนำเสนอแนวทางเลือกให้กับ ครม.ได้ทันเวลา ส่วนระยะเวลาการปฏิบัติคาดว่าคงต้องใช้เวลาประมาณ 18 เดือนถึง 2 ปี
ทั้งนี้ เงื่อนไขบางอย่างต้องรอให้ กทช.อนุญาต และการพิจารณาของเอกชนทั้ง 3 รายที่จะยอมรับข้อเสนอ เพื่อให้ทุกอย่างอยู่บนหลักการการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน และมี กทช.เป็นผู้กำกับดูแลอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่อจะได้ไม่มีปัญหากดดันการโอนย้ายลูกค้าจาก 2G ไป 3G นอกจากนั้น คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะเรียกตัวแทนของบมจ.ทีโอที และบมจ. กสท โทรคมนาคม มาหารือต่อไป
"คิดว่าปัญหาเรื่องสัญญาร่วมการงาน 2G ที่จะแปรเป็นใบอนุญาตยังมีรายละเอียดอีกเยอะ แต่ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้าก็จะเร่งเสนอครม.ให้ทัน ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ ซึ่งก่อนเสนอ ครม.เราก็ต้องมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโทรคมนาคม"นายรอม กล่าว