กสิกรคาดเงินเฟ้อ Q3/53ทรงตัวสวนทางเงินเฟ้อพื้นฐาน-ทั้งปีคง CPI โต 3-4%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 2, 2010 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI)ในช่วงไตรมาส 3/53 น่าที่จะทรงตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2/53 แต่จะมีโอกาสขยับขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี 53 ถึงต้นปี 54 ขณะที่ภาพของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) น่าจะทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปีเข้าใกล้ 2.0% ในช่วงปลายปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แม้ผลจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ (YoY) อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงในช่วง 1-3 เดือนหลังจากนี้ และน่าจะทำให้ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 3/53 มีระดับที่ค่อนข้างทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 2/53 แต่ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มการขยับขึ้นเดือนต่อเดือน(MoM) ของระดับราคาสินค้าโดยรวมทั้งในส่วนของราคาในหมวดอาหารและพลังงานน่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว และนำไปสู่การขยับขึ้นอีกครั้งของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงปลายปี 53

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงที่เหลือของปี 53 ยังคงเป็นขาขึ้น ซึ่งทิศทางของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนับจากนี้จนถึงสิ้นปี อาจให้ภาพที่แตกต่างไปจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเล็กน้อย โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าที่จะทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเข้าหาระดับ 1.5% ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3/53 และเข้าใกล้ 2.0% ในช่วงปลายปี 53

"แรงกดดันเงินเฟ้อในส่วนที่มาจากราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากนักในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่การคงมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน และการตรึงราคาก๊าซ LPG ก๊าซ NGV ก็มีผลในการช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อลงได้ด้วยอีกทางหนึ่ง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้รัฐบาลจะขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าจากผู้ประกอบการภาคเอกชน รวมทั้งขยายอายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและราคาพลังงานออกไปอีก 6 เดือน แต่ยังคงมีหลากหลายปัจจัยที่สนับสนุนการปรับขึ้นของระดับราคาสินค้าโดยรวมในช่วงเวลาที่เหลือของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินค้าในหมวดอาหารที่น่าจะได้รับแรงผลักดันจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวน และเทศกาลกินเจในช่วงเดือนแรกๆ ของไตรมาสสุดท้ายของปี 53 ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานอาจทยอยไต่ระดับขึ้นได้ตามทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลก

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงกรอบประมาณการของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสำหรับปี 53 ที่ 3.0-4.0% (ค่ากลางที่ร้อยละ 3.5) และกรอบประมาณการของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสำหรับปี 53 ที่ 1.0-1.5% (ค่ากลางที่ร้อยละ 1.3) ไว้เช่นเดิม

โดยภาพของแรงกดดันเงินเฟ้อไทยที่มีแนวโน้มทยอยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2553 และมีโอกาสเร่งสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2554 ซึ่งต้องจับตาปัจจัยการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานในภาคเอกชน และการครบกำหนดสิ้นสุดมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของรัฐบาลในช่วงต้นปี 2554 น่าที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ได้เริ่มวัฏจักรการคุมเข้มนโยบายการเงินไปแล้วในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา

เครือธนาคารกสิกรไทย คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับขึ้นสู่ระดับ 2.0% ภายในสิ้นปี 53 นี้ อย่างไรก็ดี แนวทางการคุมเข้มทางการเงินดังกล่าวจะมีลักษณะที่ค่อนข้างระมัดระวัง ท่ามกลางการประเมินความเสี่ยงของผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยเป็นระยะ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ