เบน เบอรนันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวปาฐกถาในที่ประชุมนักธุรกิจที่เมืองชาล์สตัน รัฐนอร์ธแคโรไลนา ว่า อัตราค่าแรงที่สูงขึ้นจะช่วยกระตุ้นตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนให้ฟื้นตัวขึ้นในอีก 2 - 3 ไตรมาสข้างหน้า แม้ตัวเลขจ้างงานที่อ่อนตัวลงจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคถดถอยลงไปด้วยก็ตาม
"ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบนั้น ดีมานด์จากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวขึ้นก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน และสหรัฐยังคงใช้นโยบายการเงินที่แข็งแกร่งเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัว" เบอร์นันเก้กล่าวโดยไม่ได้ระบุว่าเฟดจะใช้มาตรการใดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เบอร์นันเก้ยังกล่าวด้วยว่า "หลังจากเศรษฐกิจหดตัวลงอย่างหนักในช่วงปลายปี 2551 จนถึงต้นปี 2552 เศรษฐกิจก็เริ่มกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้งในช่วงกลางปีที่แล้ว และปัจจุบันเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวปานกลาง อย่างไรก็ตาม เรายอมรับว่าชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงประสบความยากลำบากอันเนื่องมาจากอัตราว่างงานและจำนวนบ้านที่ถูกยึดมากขึ้น รวมทั้งเงินออมที่ลดน้อยลง"
"กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวขึ้นอันเนื่องมาจากนโยบายการะตุ้นด้านการคลังและภาคเอกชนปรับเพิ่มสต็อกสินค้า และผมเชื่อว่าดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นจากครัวเรือนและภาคธุรกิจ จะเป็นอีกปัจจัยที่หนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน" เบอร์นันเก้กล่าว
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ขยายตัวในอัตรา 2.4% ต่อปี ซึ่งชะลอตัวลงเมื่อทียบกับจีดีพีไตรมาสแรกที่ผ่านการทบครั้งใหม่ว่าขยายตัว 3.7% และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 2.5% ต่อปี
ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภค ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของกิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ ขยายตัวเพียง 1.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ถึง 1.9%
อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้คาดว่า ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคจะดีดตัวขึ้นในอีกไม่กี่ไตรมาสข้างหน้านี้ เพราะได้แรงหนุนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของภาวะสินเชื่อ นอกจากนี้ เบอร์นันเก้คาดว่า อัตราการลงทุนในภาคธุรกิจจะยังคงขยายตัวแม้เศรษฐกิจยังเผชิญกับภาวะการฟื้นตัวที่เปราะบาง สำนักข่าวซินหัวรายงาน