กรมปศุสัตว์หนุนเกษตรกรสร้างรายได้เพิ่มจากการลงทุนบำบัดของเสียจากฟาร์ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 3, 2010 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสาธิตระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้จากก๊าซชีวภาพเสร็จเรียบร้อยแล้วจำนวน 11 ฟาร์ม โดยเป็นฟาร์มสุกรใน จ.ราชบุรี จำนวน 9 แห่ง และ จ.ชลบุรี จำนวน 2 ฟาร์ม ซึ่งเป็นระบบที่เรียกว่า Channel Digester Plus ซึ่งพัฒนาเรื่องการเก็บของเสียไว้ในระบบช่วงฤดูฝน

โดยฟาร์มสุกรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวสามารถนำก๊าซชีวภาพไปผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ภายในฟาร์มเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และยังสามารถขายก๊าซชีวภาพที่ได้ใช้ไปเป็นตัวเลขของก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน(คาร์บอนเครดิต) โดยเบื้องต้นธนาคารโลกจะเป็นผู้รับซื้อจากฟาร์มสุกรในโครงการจำนวน 10 แห่ง หรือสุกรจำนวน 120,000 ตัว ซึ่งคิดเป็นคาร์บอนเครดิตจำนวน 60,000 ตัน ในราคาตันละ 18 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่าจำนวน 1,080,000 ดอลลาร์/ปี หรือ 367.2 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 10 ปี ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้รับผลประโยชน์เพิ่มตั้งแต่ปี 54 เป็นต้นไป และสามารถคืนทุนการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าวได้ภายใน 2 ปี

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์มีเป้าหมายนำเทคโนโลยีด้านการจัดการของเสียไปใช้ในฟาร์มขนาดกลางและขนาดใหญ่จำนวน 22 ฟาร์ม หรือสุกรประมาณ 250,000 ตัว ในช่วงปี 49-53 ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยไปแล้วจำนวน 11 ฟาร์ม ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 11 ฟาร์มได้สำรวจและออกแบบระบบฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ