สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มิ.ย. โต 14.34%, H1/53 โต 24.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 3, 2010 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย.53 ขยายตัวร้อยละ 14.34 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 65.6 ซึ่งเป็นไปตามทิศการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมไทย เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไทยสามารถรับคำสั่งซื้อได้จากทั่วโลกสามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ทันต่อเวลา จึงเป็นที่มั่นใจของประเทศคู่ค้า

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมครึ่งแรกปี 53 เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 เมี่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 4/52 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.5 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตภาพรวมเฉลี่ยร้อยละ 62.9 สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวอย่างดีหลายสาขาอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับที่อาจจะต้องเพิ่มการลงทุนในเครื่องมือและเครื่องจักรต่าง ๆ ไม่เช่นนั้นอุตสาหกรรมจะไม่สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ทันกับการเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้า

"อัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมครึ่งปีแรกถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ แม้จะเกิดความวุ่นวายทางการเมือง แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยก็สามารถฝ่าวิกฤติไปได้ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เช่น ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวอย่างน่าพอใจเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน...จากการขยายตัวดังกล่าวจึงได้ปรับประมาณการขยายตัวของดัชนีอุตสาหกรรมในปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 15-16 เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากที่ได้ประมาณการไว้เมื่อต้นปี" นางสุทธินีย์ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ครึ่งแรกปี 53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตรถยนต์ 769,082 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 97.66 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในรถยนต์ทุกประเภท โดยจำหน่ายในประเทศ 356,692 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.13 และการส่งออก 418,178 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.11 ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของโลกและของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับตลาดภายในประเทศได้รับผลดีจากการที่ค่ายรถยนต์ต่างมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกมาเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถยนต์ประหยัดพลังงานสำหรับตลาดส่งออกผู้ประกอบการมีการปรับแผนการผลิต เพื่อรองรับตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้น

ส่วนในครึ่งปีหลังคาดว่า จะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 830,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จำหน่ายในประเทศประมาณ 343,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.05 และส่งออกประมาณ 481,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.92 โดยทั้งปีคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1.6 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.10 จำหน่ายในประเทศประมาณ 700,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.53 และส่งออกประมาณ 900,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.05

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ครึ่งปีแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.55 โดยเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากการผลิตเพื่อการส่งออกของอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ ได้แก่ HDD ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากความต้องการของตลาดสหรัฐที่ฟื้นตัวและตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่สั่งนำเข้าสินค้าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การขยายตัวที่สูงส่วนหนึ่งอาจเกิดจากฐานตัวเลขสถิติการส่งออกของปีก่อนค่อนข้างต่ำ

ขณะที่แนวโน้มการผลิตช่วงที่เหลือของปี 53 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.07 สินค้าที่มีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ HDD และ IC เนื่องจากคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากต่างประเทศ และตลาดในประเทศมีการขยายตัว โดยผู้ประกอบการพยายามที่จะเสนอสินค้าที่มีความทันสมัยให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้ออย่างหลากหลาย

ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มครึ่งปีแรก การผลิตเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2, 6.4 และ 6.4 ตามลำดับ เป็นผลจากคำสั่งซื้อของคู่ค้าขยายตัวต่อเนื่องนับแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยบวกมาจากการที่ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกสิ่งทอภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีของอาเซียน เพื่อจะส่งต่อไปในหลายประเทศในภูมิภาคที่ไม่มีสิ่งทอต้นน้ำ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา และบังกลาเทศ ซึ่งนำเข้าสิ่งทอต้นน้ำ และกลางน้ำจากไทยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออกมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว

ส่วนแนวโน้มปี 53 คาดว่าการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3-7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากและโรงงานรับคำสั่งซื้อไว้เต็มแทบทุกโรงงาน สำหรับตลาดหลักอย่างสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) เป็นตลาดที่มียอดคำสั่งซื้อลดลง ขณะที่อาเซียนและจีน มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ