ผู้ว่า ธปท.ห่วงดอกเบี้ยขึ้นส่งผลคนทิ้งดาวน์คอนโดฯ,บาทแข็งไม่มีผลส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 4, 2010 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยต่อจากนี้เป็นขาขึ้น โดยหลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์/พีไประยะหนึ่งก็จะมีผลต่อตลาดเงิน ซึ่งผลกระทบนี้อาจจะทำให้ผู้ที่ผ่อนดาวน์โครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ทิ้งดาวน์ หลังจากที่การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำมานาน ทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นและสินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าจากการหารือกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังไม่เห็นข้อมูลการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ที่ผิดปกติอย่างชัดเจน แต่ก็มีตัวเลขยอดจองราว 25% ในส่วนของอาคารชุดที่ต้องระมัดระวัง หากไม่ใช่ดีมานด์จริง ถ้าเศรษฐกิจพลิก และดอกเบี้ยสูงขึ้นก็จะกระทบพวกนี้ทันที เพราะที่ผ่านมาอาคารชุดมีซัพพลายมากขึ้นอาจจะมีการซื้อเก็งกำไรส่วนหนึ่ง

นางธาริษา กล่าวว่า หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ควรจะเข้ามาดูแล เพราะเรามีประสบการณ์เมื่อปี 40 เมื่อใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำนาน ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ และเกิดการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์จนเกิดภาวะฟองสบู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท.กังวล

"แม้ว่าจะยังไม่เห็นภาวะฟองสบู่ในขณะนี้ แต่จากการเร่งตัวของอาคารชุดตั้งแต่ปี 50 มีการสร้างเพิ่มขึ้นมาก แม้ว่าจะไม่เห็นอาการแย่ แต่ก็ต้องเข้ามาดูแลไว้ก่อน เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ชัดเจนว่าเป็นความต้องการซื้อที่แท้จริงหรือไม่"นางธาริษา กล่าวในการสัมมนาวิชาการสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจด้วยบิ๊กไอเดีย ซึ่งเป็นการปาฐกถาในหัวข้อ""ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 53 ปรับตัวอย่างไรให้ทันสถานการณ์"

นางธาริษา กล่าวว่า การที่เศรษฐกิจเร่งตัวมีโอกาสทำให้อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสแตะขอบบนของเป้าหมายที่ 3% ดังนั้น ธปท.จำเป็นต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อ ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะกว่าจะส่งผลไปถึงดอกเบี้ยในตลาดอย่างเต็มที่อาจจะใช้เวลานานถึง 2 ปี ถ้าทำนโยบายการเงินช้าไปอาจจะต้องใช้ยาหม้อใหญ่ในการมาดูแลเงินเฟ้อก็ได้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

"โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ แต่ก็ต้องมีเรื่องระมัดระวังบ้าง แต่ก็ยังโอเคอยู่ นโยบายการเงินก็จะมีการตึงตัวขึ้นบ้าง การประชุม 14 ก.ค.ที่ผ่านมาก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว แต่ดอกเบี้ยที่ขึ้นยังไม่ได้เป็นการใช้มาตรการเข้มงวด tightening policy แม้ว่าจะขึ้นไป 0.25% ก็ยังต่ำกว่าภูมิภาคและระดับปกติ ครั้งที่ผ่านมาปรับเพื่อให้เข้าสู่ปกติ จากนี้ไปเป็นวงจรขาขึ้นดอกเบี้ย ใต่จะขึ้นนานแค่ไหนมากเท่าไหร่ขึ้นกับการดูเศรษฐกิจควบคู่กันไป"นางธาริษา กล่าว

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวอีกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยพลิกฟื้นตัวมาดีขึ้นเร็วและชัดเจนมากตั้งแต่ผ่านพ้นช่วงไตรมาส 2/52 อยู่ก้นกระทะตอนนี้ฟื้นมาแล้ว การใช้จ่ายของภาคเอกชและภาครัฐเร่งตัวสูงกว่าระดับวิกฤติแล้ว เป็นการฟื้นตัวเกือบทุกภาคธุกิจ ขณะนี้แรงกระตุ้นของภาครัฐได้แผ่วลงไปแล้ว ซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้น เพราะจุดประสงค์ของภาครัฐคือเข้ามาเสริมในขณะที่เศรษฐกิจแผ่ว และตอนนี้ภาคเอกชนก็เริ่มกลับเข้ามามีบทบาทแล้ว สอดคล้องกับที่ ธปท.เห็น

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไตรมาส 4/52 เติบโตราว 5% มาถึงไตรมาสแรกปีนี้เติบโตสูงถึง 12% สูงสุดเท่าที่เคยมีมา เบื้องต้นเครื่องชี้ในไตรมาส 2/53 อาจชะลอลงบ้าง แต่ไม่น่าแปลกใจเพราะปกติเดือน เม.ย.จะชะลอลงจากสาเหตุที่มีวันหยุดค่อนข้างมาก ประกอบกับปีนี้มีปัญหาการเมือง ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง 23% เทียบกับไตรมาสแรก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไตรมาส 2/53 จะมีข้อมูลที่เห็นว่าเศรษฐกิจแผ่วลง แต่เมื่อมองไปข้างหน้าที่เหลือของปีนี้เศรษฐกิจไปได้ดี โดยเฉพาะดูจากการส่งออกในไตรมาส 2/53 ที่ขยายตัวสูงถึง 35% และยังสูงขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้โตระดับ 40 กว่า% โดยในเดือน พ.ค.เติบโต 43% มิ.ย.เติบโต 46% สูงเป็นประวัติการณ์ที่เคยมีมา ตรงนี้เป็นเครื่องขี้ว่าตลาดต่างประเทศยังขยายตัวสูง ประกอบกับภาคส่งออกของไทยมีการปรับตัวกระจายตลาดไปหลายภูมิภาค จากเดิมพึ่งพากลุ่มประเทศ G-3 คือ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นหลัก

ส่วนค่าเงินบาทแข็งค่าไม่ได้กระทบกับการส่งออกโดยตรง โดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่า 3.5% เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ แต่การส่งออกของไทยก็ยังเติบโตสูงถึง 30-40% และการลดค่าเงินดองของเวียดนาม ก็ไม่ได้ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขัน เพราะการลดค่าเงินดองไม่ได้มาจากเหตุผลต้องการฟื้นการส่งออก และแม้ว่าจะลดค่าเงิน 6 ครั้งใน 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่เงินเฟ้อของเวียดนามยังสูงถึง 21% ดังนั้น การส่งออกจึงยังแพงอยู่เมื่อเทียบกับไทย 10%

นอกเหนือจากการส่งออกดีแล้ว การจ้างงานยังดีอยู่ โดยการใช้กำลังการผลิตหลายอุตสาหกรรมเริ่มเต็มแล้ว จำเป็นต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่ม จึงเป็นเวลาของการลงทุนเพื่อรองรับการผลิต

สำหรับปัจจัยเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจมองว่ายังเป็นปัญหาเรื่องต่างประเทศ ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ ภาระหนี้สินยุโรป แม้ว่ายุโรปจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลและสถาบันการเงินผ่าน stress test แต่ก็เป็นยุคที่คนกลัวและขาดความเชื่อมั่น ขณะที่ปัจจัยในประเทศคือการเมืองไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ