สศค.ยันคง VAT 7% ช่วยศก.เติบโตมั่นคง ไม่กระทบแผนปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 4, 2010 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ยืนยันว่า การที่รัฐบาลให้คงมาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) จาก 10% เหลือ 7% ต่อไปอีก 2 ปี สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.55 นั้น ถือว่ามีความเหมาะสมแล้ว ซึ่งการคงมาตรการดังกล่าวเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และสถานะทางการคลังที่ยังมีความมั่นคง

ล่าสุดคาดว่าในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 53 รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิได้ราว 1.66 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 3.16 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 42% ของจีดีพี ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนที่กระทรวงการคลังตั้งไว้ว่าต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพีอยู่มาก รวมทั้งการบริโภคในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นด้วย

นายสาธิต กล่าวว่า แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวของไทยจะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ภาครัฐต้องการเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างมั่นคง ท่ามกลางปัจจัยต่างประเทศที่ยังประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะกรณีปัจจัยเสี่ยงจากตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในจีน ซึ่งปัจจัยภายนอกเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม

ดังนั้น จากสถานการณ์ในปัจจุบันรัฐบาลจึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงนี้ รวมทั้งเพื่อต้องการให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่องก่อน

"การที่เรายังคง VAT ไว้ที่ 7% เพราะเราต้องการเห็นการเติบโตอย่างมั่นคง แม้เศรษฐกิจจะฟื้น การบริโภคในประเทศจะสูงขึ้น แต่เราก็ประมาทไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ ทั้งสหรัฐ ยุโรป และจีน ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นคู่ค้าหลักของไทยและมีผลต่อการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในจีดีพีของไทย เราต้องการมุ่งเน้นการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาต่างประเทศ...มันคงเร็วไปที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในขณะที่เศรษฐกิจโลกเพิ่งเริ่มฟื้นตัว" ผู้อำนวยการ สศค.ระบุ

พร้อมกันนี้ ยังเชื่อว่า การคงอัตราภาษี VAT ไว้ที่ 7% ต่อไปอีก 2 ปีนั้นจะไม่กระทบกับการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้ สศค.ได้เตรียมศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบไว้หลาย model เพื่อให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้พิจารณา ซึ่งเห็นว่าการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบไม่ใช่เหตุผลเพื่อการเพิ่มรายได้เป็นหลักเท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลของการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านของรายได้ของประชาชน

"เราเตรียมไว้หลาย model และพร้อมที่จะให้ รมว.คลัง ได้พิจารณา" นายสาธิต กล่าว

ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นห่วงว่าการการขยายเวลาการลดอัตราภาษี VAT อาจจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการจัดเก็บรายได้ซึ่งฐานภาษียังมีขนาดเล็กอยู่นั้น นายสาธิต กล่าวว่า ที่มาของรายได้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการปรับขึ้นอัตราภาษีเพียงอย่างเดียว แต่อาจมาจากหลายแนวทางอื่นด้วย เช่น การจัดตั้งกองทุนคล้ายกับเทมาเส็กในสิงคโปร์, การทำ PPP หรือแม้แต่การลดช่องโหว่ทางกฎหมาย เป็นต้น

"ถ้ามองชั้นเดียวก็คงเป็นเหตุเป็นผลได้ แต่หากมองหลายๆ ชั้น มันมีมากกว่านั้น ไม่จำเป็นต้องเก็บภาษีอย่างเดียว เราอาจตั้งเป็นกองทุน, ทำ PPP หรือการอุดช่องโหว่ทางกฎหมาย มันมีหลายจุดที่ต้องพิจารณา ไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษีอย่างเดียว" นายสาธิต ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ