ธปท.ระบุสถานะแบงก์พาณิชย์ทั้งระบบแข็งแกร่งรองรับสินเชื่อโตครึ่งปีหลังได้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 5, 2010 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานะของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในขณะนี้เพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าความต้องการจะเร่งตัวขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ

"เศรษฐกิจเติบโตดีทำให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 16.9% เพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ และความเสี่ยง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังดี"นางสาวนวพร กล่าว

ธปท.รายงานว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/53 มีเสถียรภาพ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ได้ดีขึ้น โดยสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน และสินเชื่อ SME กลับมาขยายตัวเป็นบวก NPL ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น กอปรกับมีการเพิ่มทุน ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนสูงขึ้นที่จะเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจตลอดจนรองรับปัจจัยท้าทายในช่วงต่อไป

"โดยรวมแล้วในไตรมาส 2 นี้ สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์สอดรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น และมีบทบาทต่อการระดมทุนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องติดตามทั้งภายในและภายนอก ที่สำคัญได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความผันผวนของระบบการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงต่อไป ระบบธนาคารพาณิชย์จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง" นางสาวนวพร กล่าว

สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/53 ขยายตัว 5.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 2.5% ในไตรมาส 1/53 โดยสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวเป็นครั้งแรกที่ 2.1% หลังจากหดตัวติดต่อกัน 4 ไตรมาส ส่วนสินเชื่อ SME ขยายตัว 2.1% ดีขึ้นจากที่หดตัว 4.9% ในไตรมาส 1/53 สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเป็นที่น่าสังเกตว่าถ้าเทียบกับไตรมาส 1/53 แล้ว สินเชื่อ SME ขยายตัวทุกภาคยกเว้นอุตสาหกรรม

สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวสูงขึ้นที่ 14.3% เนื่องจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.53 และสินเชื่อรถยนต์ที่ขยายตัวสูง

ขณะที่ด้านเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินขยายตัว 2% จากระยะเดียวกันปีก่อน ช้ากว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อ ส่งผลให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้นบ้าง โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและ B/E เพิ่มขึ้นเป็น 88.2% ซึ่งธนาคารพาณิชย์ยังไม่ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับลูกค้าทั่วไป แต่เลือกใช้วิธีเสนอผลิตภัณฑ์การออมพิเศษที่ให้ผลตอบแทนจูงใจ เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องและรักษาฐานลูกค้าไว้

แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.ค.คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.25% ต่อปี เป็น 1.50%ต่อปี ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จึงปรับอัตราดอกเบี้ยตาม จนถึง 2 ส.ค.ค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 4 แห่ง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนเพิ่มขึ้น 0.17% อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี เพิ่มขึ้น 0.5% และอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 0.14% เป็นต้น

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)มียอดคงค้าง 3.56 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 1.5 หมื่นล้านบาท จากการรับชำระคืนหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการขายหนี้ เป็นสำคัญ ทำให้สัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงทั้ง gross NPL และ net NPL เหลือ 4.4% และ 2.4% ตามลำดับ

สัดส่วน NPL ของสินเชื่อภาคธุรกิจลดลงจาก 5.0% เหลือ 4.9% ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีสัดส่วน NPL ลดลงเล็กน้อยจาก3.0% เป็น 2.9% สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อ SME เฉพาะของธนาคารพาณิชย์ไทย ลดลงจาก 7.4% เป็น 6.8% โดยสัดส่วน NPL ลดลง ทุกประเภทธุรกิจ สำหรับสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Delinquent loan) มียอดคงค้างลดลงเช่นกัน โดยสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือ 3.0% โดยสัดส่วน Delinquent loan ของสินเชื่อ SME ของธนาคารพาณิชย์ไทยลดลงจาก 3.4% ณ ไตรมาส 1/53 เหลือ 3.2%

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/53 จำนวน 3.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 6.9 พันล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.9% และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย(ROA) เพิ่มขึ้นเป็น 1.2% กำไรในไตรมาส 2 บวกกับการเพิ่มทุนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีฐานะเงินกองทุนเพิ่มขึ้น โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio)และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง(Tier-1 ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 16.9% และ 13.0% ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ