ภาคเอกชนห่วงเอฟทีเอไทย-อียูสะดุด หลังพบอียูวางยากำหนดมาตรการไว้เพียบ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 5, 2010 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.พาณิชย์ เผยผลรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 19 กลุ่มแล้วมีความเป็นห่วงเรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี(FTA)ไทย-สหภาพยุโรป(EU)อาจไม่ราบรื่นตามที่คิดไว้ เนื่องจากประเทศสมาชิกกลุ่มอียูมีการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่เรื่องภาษี(NBT) ไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านแรงงาน ซึ่งอาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าของไทย

"ภาคเอกชนมีทั้งสนับสนุนและกังวล โดยเฉพาะการขาดความพร้อมในการแข่งขัน รวมถึงเรื่องเอ็นทีบี เช่น มาตรการความปลอดภัยอาหาร มาตรฐานสิ่งแวดล้อม แรงงาน และความรับผิดชอบต่อสังคมที่อียูมีความเข้มงวดมากจนอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าของไทย" นายอัครพล ลีลาจินดามัย ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนต่อการจัดทำเอฟทีเอไทย-อียู กล่าว

สำหรับภาคเอกชนที่สนับสนุนการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมองว่าเป็นโอกาสที่จะขยายการส่งออกไปตลาดยุโรป และช่วงชิงความได้เปรียบทางภาษีเหนือประเทศคู่แข่งขัน แต่มีข้อเสนอว่าภาครัฐต้องเร่งเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี) ในด้านการพัฒนาความรู้ ความสามารถของบุคลากรเฉพาะด้าน รวมถึงการให้อียูยอมรับมาตรฐานการตรวจสอบรับรองสินค้า และผลักดันให้มีกลไกความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากอียู

ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนในรูปแบบกลุ่มย่อยทั้งสินค้าและบริการในเบื้องต้นแล้ว แต่เพื่อความรอบคอบจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอทั้งหมดเข้ารับฟังในเวทีสาธารณะครั้งใหญ่อีกครั้งในงาน "คิดเห็นอย่างไร เตรียมพร้อมหรือไม่ จะรับมืออย่างไรหากไทยจัดทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป" ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ ที่อิมแพคเมืองทองธานี

"จะเป็นการรับฟังความเห็นครั้งสุดท้าย ก่อนเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ รมว.พาณิชย์ และ ครม.พิจารณาต่อไปว่า ไทยควรจะทำเอฟทีเอกับอียูหรือไม่" นายอะครพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ