แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการศึกษารายละเอียดโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานฯ รับทราบรายงานจากการเดินทางไปเยือนจีนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อ 16-23 ก.ค.53 เพื่อนำมาพัฒนาให้สอดคล้องกับข้อตกลงความร่วมมือระหว่างไทยและจีน
กระทรวงคมนาคมรายงานแผนเตรียมเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศจีนในช่วงประมาณปลายเดือน ส.ค.53 เพื่อดึงนักลงทุนจีนมาลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่(เมกะโปรเจ็คต์) โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง, โครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) รวมทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)
"โครงการรถไฟความเร็วสูงและโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งมีแนวเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซียและลาว" แหล่งข่าว กล่าว
ขณะที่โครงการใหญ่ที่จะนำไปโรดโชว์ที่ประเทศจีน มีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการลงทุนเส้นทางรถไฟ ประกอบด้วย กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 209,396 ล้านบาท, เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 180,379 ล้านบาท, เส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ระยะทาง 937 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 234,071 ล้านบาท และเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 221 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 56,601 ล้านบาท
2.โครงการรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 767 กิโลเมตร วงเงินรวม 6.6 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1.ลพบุรี-นครสวรรค์ ระยะทาง 113 กิโลเมตร วงเงิน 7,860 ล้านบาท 2.มาบกะเบา-นครราชสีมา ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 11,640 ล้านบาท 3.ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร วงเงิน 13,010 ล้านบาท 4.นครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 16,600 ล้านบาท และ 5.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 17,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้า ของ รฟม.ประกอบด้วย สายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่, โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสาย สีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ที่จะดึงนักลงทุนจีนมาร่วมทุน
ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังเห็นชอบโครงการพัฒนากิจการรถไฟในระยะแรก 2 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างรถไฟที่มีขนาดความกว้างของรางที่เป็นมาตรฐานจากชายแดนไทย-ลาว ที่ จ.หนองคาย ไปสุดชายแดนไทยภาคใต้ที่สุไหงโก-ลก และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่าง กรุงเทพฯ-ระยอง
กระทรวงคมนาคมรายงานว่าที่มีผ่านมาได้ศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่มีการศึกษาไว้ 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 209,936 ล้านบาท, กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร วงเงิน 180,379 ล้านบาท, กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ระยะทาง 937 กิโลเมตร วงเงิน 234,071 ล้านบาท และกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 221 กิโลเมตร วงเงิน 56,601 ล้านบาท
ทั้งนี้ พบว่าเส้นทางที่ควรดำเนินการก่อน คือ เส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีนได้ เนื่องจากมีผลตอบแทนทางการลงทุน(FIRR)สูงกว่าเส้นทางที่เดินทางได้ภายในประเทศที่มี FIRR 2-5% เท่านั้น
สำหรับข้อตกลงความร่วมมือระหว่างไทย-จีนมีข้อสรุปว่ารัฐบาลจีนจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในโครงการพัฒนากิจการรถไฟในระยะแรก 2 โครงการ คือ 1.โครงการก่อสร้างรถไฟที่มีขนาดความกว้างของรางที่เป็นมาตรฐานจากชายแดนไทย-ลาว ที่จังหวัดหนองคาย ไปสุดชายแดนไทยที่สุไหงโก-ลก เพื่อให้ประชาชนในอาเซียนสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้โดยทางรถไฟในอนาคตจากสิงคโปร์ผ่านมาเลเซีย-ไทย-ลาว ไปยังจีน และ 2.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ และ จ.ระยอง
ที่ประชุมยังรับทราบหลักการที่จะมีการตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน ขึ้นรับผิดชอบบริหารจัดการโครงการทั้ง 2 โครงการ ซึ่งฝ่ายไทยจะลงทุนด้วยสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตเส้นทางการก่อสร้าง ส่วนฝ่ายจีนลงทุนในค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด