AFET เผยการสะสมสัญญาคงค้างยางพาราพุ่งกว่า 3,600 ทำสถิติสูงสุด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 6, 2010 10:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย(AFET)ระบุว่า การซื้อขายยางพาราใน AFET ในช่วงปีนี้สูงมากกว่า กิโลกรัมละ 100 บาท อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของความต้องการในประเทศผู้นำเข้ายางพาราจากไทย ประกอบกับอุปทานของยางพารามีค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้ราคายางพาราสูงขึ้นทะลุ 100 บาทเป็นระยะเวลามากกว่า 6 เดือนติดต่อกัน ซึ่งเมื่อเทียบกับในปีก่อนๆ พบว่าราคายางพาราจะสูงถึง 100 บาท/กิโลกรัมเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

สถานการณ์ในปีนี้จึงทำให้มีการสะสมสัญญาคงค้าง (Open Interest) ของยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) ในตลาดมาอย่างต่อเนื่อง อยู่ในระดับสูงกว่า 3,600 สัญญา ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในปีนี้ และมุ่งขึ้นสู่ปริมาณสูงสุดจากสถิติที่เคยทำไว้ ซึ่งนับเป็นสัญญาณเชิงบวก ที่แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ประสงค์จะใช้ AFET ในการบริหารจัดการความเสี่ยงและเป็นเครื่องมือในการลงทุนในช่วงที่ราคายางมีความผันผวนเป็นอย่างมาก

สินค้ายางพาราที่ซื้อขายใน AFET (RSS3) ได้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้จากที่เคยเข้าสู่ AFET ครั้งแรกเมื่อปี 2547 ซึ่งในขณะนั้นตลาดล่วงหน้าของไทยอยู่ในอันดับสุดท้ายของ 5 ตลาดยางพาราโลก ในปัจจุบันการซื้อขาย RSS3 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปริมาณการซื้อขายหรือสัญญาคงค้าง ได้มีการแข่งขันในตลาดโลกและปรับตัว จนทำให้ไทยกลายเป็นตลาดที่มีการซื้อขายล่วงหน้า RSS3 เป็นอันดับ 3 ในตลาดโลก รองจากตลาดล่วงหน้าในจีนและญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ส่งผลให้ตลาดยางพาราของไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก มีบทบาทและอิทธิพลต่อราคาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดโลก ที่มีความทัดเทียมกับตลาดที่ได้จัดตั้งมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ กลไกราคา กระบวนการซื้อขาย การตรวจสอบคุณภาพ การส่งมอบ เป็นที่ยอมรับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ จนกระทั่งตลาดล่วงหน้าในญี่ปุ่นบางแห่ง ได้ขอใช้ราคาตลาดล่วงหน้าของไทยไปคำนวณดัชนีราคาใน Rubber Index ที่จะใช้ในการซื้อขายล่วงหน้าในญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ในช่วงที่ราคายางพารามีความผันผวนมาก เป็นผลมาจากการซื้อขาย เพื่อทำกำไรของกองทุนซื้อขายล่วงหน้าในตลาดอื่นๆของโลก ราคาใน AFET ยังสามารถสะท้อนภาวะอุปทานและต้นทุนการผลิตของไทยไปสู่ตลาดโลก อันเป็นการลดผลกระทบจากการที่ประเทศผู้ใช้หรือประเทศผู้ค้า ชี้นำราคาไปในทิศทางที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ราคายางพาราไทยไม่ตกต่ำไปตามผลของการเก็งกำไรในต่างประเทศ ซึ่งแต่เดิมตลาดยางพาราไทย ต้องยอมรับราคาที่กำหนดโดยผู้ซื้อในต่างประเทศ ไม่มีส่วนในการกำหนดราคาในตลาดโลก

ความเชื่อมั่นของผู้ซื้อผู้ขายต่อ AFET ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ได้มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดยางพารา โดยเฉพาะสหกรณ์การเกษตรยางพารา โดยได้จัดให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง รวมตลอดถึงการสร้างความรู้ให้แก่นักลงทุนในการใช้ตลาดล่วงหน้าในการลงทุน

ดังนั้น ภารกิจสำคัญของ AFET จึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างๆ ทั้งในด้านการสร้างกลไกการซื้อขายล่วงหน้า ไปจนถึงการส่งมอบรับมอบสินค้า รวมตลอดถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ตลาดล่วงหน้าประกอบการทำธุรกิจของตน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ