กษ.เร่งมาตรการส่งเสริมอาชีพปลูกยางและอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 6, 2010 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมยางพารา 50 ปี สกย. ภาคใต้ตอนล่าง ว่า ภาคใต้ตอนล่างนับเป็นดินแดนที่มีสำคัญที่สุดของประเทศไทย ในเรื่องการผลิตและอุตสาหกรรมยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรชาวสวนยางมีความผูกพันอย่างแนบแน่นกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย. มาตั้งแต่ปี 2503 โดยเป็นหน่วยงานหลักในการเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนให้เกษตรกรในการปลูกแทนยางเก่าด้วยยางพันธุ์ดี หรือไม้ผล ไม้ยืนต้น ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ไม่เคยมีสวนยางมาก่อนได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพการทำสวนยาง ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสวนยาง และดูแลด้านการตลาดยางพารา ตลอดระยะเวลา 50 ปี

ตามที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหายางพาราอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะมีการประสานความร่วมมือและการทำข้อตกลงร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซียในการสร้างเสถียรภาพราคาแล้ว ยังได้ดำเนินโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่เคยมีสวนยางมาก่อน ได้ปลูกยางพาราเพื่อเพิ่มรายได้แล้ว และเปิดโอกาสให้เกษตรกรในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกยางพารา มีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่มั่นคง โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 800,000 ไร่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 150,000 ไร่ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ 500,000 ไร่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ 150,000 ไร่

นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราปี 2553 — 2556 โดยจะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกระบวน การผลิตยางแก่เกษตรกรผู้ปลูกยาง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และพัฒนาการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 250 ก.ก./ไร่/ปี เป็น 300 ก.ก./ไร่/ปี อีกทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ เพื่อลดการส่งออกยางดิบไปต่างประเทศ และเป็นการเพิ่มมูลค่ายางพาราให้สูงขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่า เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ตลอดจนการปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป เพื่อมีเงินทุนสงเคราะห์สำหับนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการสงเคราะห์ปลูกแทน รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิ ภาพการผลิตยางและผลิตภัณฑ์ยางของประเทศต่อไป

ด้านนายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมยางพารา 50 ปี สกย. ภาคใต้ตอนล่าง ครั้งนี้จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 1—7 สิงหาคม 2553 วัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกร ชาวสวนยางทั้งในพื้นที่จังหวัดสงขลาและพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาวงการยางพารา โดยเฉพาะได้เข้าใจถึงประโยชน์ของสวนยางพารา ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการสร้างความมั่นคงและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมในงาน ประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการทางวิชาการ การเสวนาทางวิชาการ การประกวดธิดาสวนยางพารา การแสดงศิลปวัฒนธรรมและการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค

อนึ่ง จังหวัดสงขลามีพื้นที่ปลูกยางกว่า 1,500,000 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 320,000 ตัน/ปี ทำรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางปีละ 22,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 10 ของรายได้จากยางพาราของประเทศ อีกทั้งจังหวัดสงขลายังเป็นเมืองอุตสาหกรรมการแปรรูปยางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และยังเป็นปะตูการส่งออกยางธรรมชาติไปสู่ตลาดโลก นำรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าปีละมากกว่า 400,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ