(เพิ่มเติม) รมว.คลัง ระบุโจททย์สำคัญปรับเกณฑ์เปิดทางเอกชนเพิ่มบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 6, 2010 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ระบุว่า โจทย์ที่สำคัญในขณะนี้ คือ รัฐบาลจะต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์และกติกาต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากบทบาทของภาครัฐ

"ประเด็นสำคัญ คือ เราจะทำอย่างไรในแง่การปรับกฎกติกา เพื่อให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เพิ่มเติม...ในส่วนของภาครัฐนั้นบทบาทการลงทุนยิ่งน้อยยิ่งดี เพราะเอกชนจะใช้เงินได้คุ้มค่ากว่า ส่วนภาครัฐต้องหันไปลงทุนในสิ่งที่ได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าที่เอกชนจะรับได้ เช่น สาธารณสุขพื้นฐาน การศึกษาพื้นฐาน แหล่งน้ำ เป็นต้น" นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวว่า ภาครัฐยังมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากไทยถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนในระดับหลายล้านล้านบาทในการเข้าไปช่วยพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างต่างๆ ของประเทศอีกหลายด้านทั้งด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน, ด้านการศึกษา, ด้านสาธารณสุข, ระบบคมนาคมขนส่ง และแหล่งน้ำ เป็นต้น

ดังนั้น การที่จะปรับงบประมาณรายจ่ายของประเทศให้เข้าสู่ระดับที่สมดุลในช่วงเวลานี้คงยังไม่สามารถทำได้ เพราะปัจจุบันภาครัฐยังมีปัญหาเรื่องรายจ่ายกับรายได้ที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ซึ่งทำให้รายจ่ายไม่มีเหลือที่จะนำลงทุนโครงการต่างๆ ได้มากเพียงพอ แต่ทั้งนี้มองว่าการที่จะคงงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลต่อไปอีกระยะไม่น่าจะเป็นปัญหา

"ตอนนี้รายได้ภาครัฐถือว่าพอดีกับรายจ่าย ไม่เหลือพอให้ไปลงทุนอะไรได้มาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณแบบขาดดุลไปสักพัก แต่มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะเป็นเรื่องปกติของประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องบริหารจัดการงบประมาณที่ขาดดุล" รมว.คลังกล่าว

อนึ่ง วันนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่าในวันที่ 9 ส.ค.นี้ จะประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เพื่อหารือถึงแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบสมดุลภายในอีก 5 ปีข้างหน้า

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำคัญกว่าในเรื่องการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล คือความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณรายจ่ายเพื่อการลงทุนให้เกิดผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อระบบเศรษฐกิจ และประชาชนได้มากที่สุดในอนาคต อย่างไรก็ดี เมื่องบรายจ่ายภาครัฐในปัจจุบันที่มีอยู่จำกัดจึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยสมทบ เพื่อให้การยกระดับและปรับปรุงโครงสร้างด้านต่างๆ ของประเทศเดินหน้าต่อไปได้

นายกรณ์ ยังได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ "การคลังในยุคโลกาภิวัฒน์" ให้แก่นักบริหารการคลัง โดยระบุว่า บทบาทของกระทรวงการคลังในยุคนี้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นเพียงแค่การหารายได้เพื่อสนับสนุนงบประมาณเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังมีภารกิจและมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าไปพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคม เช่น การแก้ปัญหาความยากจน, การสร้างและสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการใช้นโยบายภาษีเพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อม

โดยกระทรวงการคลังมีเครื่องมืออยู่หลายด้านที่จะใช้สนับสนุนนโยบายการทำงาน เช่น เครื่องมือด้านงบประมาณ, เครื่องมือทางภาษี, การให้เงินสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ, การให้สินเชื่อและการผ่อนปรนภาระหนี้ของประชาชน, การใช้กฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบปฏิบัติ, การจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะของภาครัฐ และนโยบายรัฐวิสาหกิจ และความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนในการลงทุน(PPP)

รมว.คลัง กล่าวว่า จากผลกระทบของกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ก่อให้เกิดการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้น ทำให้กระทรวงการคลังจะต้องมีบทบาทมากขึ้นทั้งด้านการกำกับดูแลเป้าหมาย-การขยายตัว และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการกระจายรายได้

ขณะเดียวกันต้องสร้างบรรยากาศ ความเป็นธรรม เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชน เพื่อให้เอกชนได้เข้ามามีบทบาทร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และกระทรวงการคลังจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อสนับสนุนระบบการค้า การเงิน และการลงทุนให้สอดคล้องและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับนโยบายการคลังในอนาคตนั้น ประกอบด้วยเป้าหมายสำคัญ คือ 1.การสร้างความยั่งยืนทางการคลัง 2.การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 3.การสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม 4.การลงทุนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในโครงสร้างพื้นฐาน 5.การสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้กับชุมชน 6.การเพิ่มศักยภาพในการบริหารทรัพย์สินของรัฐเพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ และ 7.การประสานนโยบายการเงิน การคลัง และตลาดทุน เพื่อรองรับผลกระทบจากภายนอกประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ