ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเงินบาทในประเทศในสัปดาห์หน้า (9-13 ส.ค.) อาจเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 31.95-32.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ คงต้องจับตาสัญญาณการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท. ใกล้ระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ รวมถึงทิศทางของสกุลเงิน/ตลาดหุ้นในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ ทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ อาจขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน (ขั้นต้น) เดือนส.ค. ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค ฐานะการคลังเดือนก.ค. ดุลการค้า ข้อมูลสต็อกสินค้าภาคค้าส่ง/ภาคธุรกิเดือนมิ.ย. ข้อมูลประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนแรงงานต่อหน่วยในไตรมาส 2/2553 รวมถึงรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ ตลาดยังอาจจับตาความต่อเนื่องของการคลายความกังวลต่อวิกฤตด้านการคลังของประเทศในแถบยุโรป ผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 10 ส.ค. และการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจของจีนอีกด้วย
สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทในประเทศ แข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทแข็งค่าทะลุระดับ 32.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ และสามารถรักษาทิศทางการแข็งค่าไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนจะเข้าทดสอบระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงท้ายสัปดาห์ ทั้งนี้ เงินบาทมีแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้า และความแข็งแกร่งของสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขายท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นต่อแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เริ่มมีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจต้องกลับมาใช้เครื่องมือผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี แรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ของผู้นำเข้า รวมถึงแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งตลาดคาดว่าเป็นการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท.ในระหว่างสัปดาห์ ได้ชะลอการแข็งค่าของเงินบาทไว้บางส่วน สำหรับในวันศุกร์ เงินบาทแข็งค่ามายืนที่ระดับประมาณ 32.04 (ตลาดเอเชีย) เทียบกับระดับ 32.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (30 ก.ค.)