พณ.ยกเพชรบุรีนำร่องเมืองศก.สร้างสรรค์-เฟ้นหาทั่วปท.ผลักดันมูลค่าGDPไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday August 8, 2010 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือก 10 เมืองสร้างสรรค์ต้นแบบเพื่อนำร่องโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใน 10 จังหวัด เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาทางด้านองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์, ศิลปวัฒนธรรม, หัตถกรรม และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ทั้งนี้มั่นใจว่าภายในปี 2555 โครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยได้กว่า 9 แสนล้านบาท หรือเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์จาก 12% เป็น 20% ของจีดีพี

รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับจังหวัดที่จะนำร่องในโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก่อน คือ จ.เพชรบุรี เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ มีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายอันแสดงถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างชัดเจน ซึ่งก่อให้เกิดสินค้าและบริการทีเป็นของดีเมืองเพชรที่ทุกคนให้การยอมรับและเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งของไทยที่มีศักยภาพตรงตามแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามนโยบายรัฐบาล

"เมืองเพชรมีของดีขึ้นชื่อหลายอย่าง และเป็นอีกจังหวัดที่ควรตั้งอยู่บนเส้นทางการเรียนรู้อุตสาหกรรมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและศูนย์ศึกษาให้กับนักธุรกิจที่ต้องการองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไปต่อยอดธุรกิจ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้" นายอลงกรณ์ ระบุ

ด้านนายชาย พาณิชพรพันธุ์ ผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี กล่าวว่า จังหวัดเพชรบุรีมีอุตสาหกรรมสำคัญ 4 ประเภทที่เข้าข่ายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นำร่อง 15 ประเภทที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ กล่าวคือ 1.อุตสาหกรรมการเกษตร มีสินค้าเกษตรหลายประเภทที่มีชื่อเสียง เช่น เกลือสปา, การแปรรูปน้ำตาลโตนดเป็นผง, การปลูกกล้วยหอมทอง เป็นต้น

2.อุตสาหกรรมขนมหวาน ซึ่งขนมหวานเมืองเพชรถือเป็นสินค้าขึ้นชื่อของ จ.เพชรบุรี สถานประกอบการหลายแห่งสามารถผลิตขนมหวานได้อย่างมีคุณภาพมาต่อเนื่องยาวนาน 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งจากสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสม ทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวหลายรูปแบบ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตร, เชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ, เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม เป็นต้น และ 4.อุตสาหกรรมศิลปกรรมช่างประดิษฐ์ ซึ่งเมืองเพชรมีผลงานที่เกิดจากช่างพื้นบ้านที่มีการพัฒนาฝีมือและรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างเมืองเพชรถึง 15 สาขา เช่น งานปูนปั้น, งานลายรดน้ำ, งานช่างทอง, งานแทงหยวก, งานตอกกระดาษ, งานสานใบตาล, งานปั้นหัวโขน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ