รมว.คลัง คาดงบประมาณเข้าสู่สมดุลแท้จริง(รวมภาระดอกเบี้ยจ่าย)ภายในปี 61

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 9, 2010 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า การเข้าสู่งบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบสมดุลภายใน 5 ปีตามที่ในวันนี้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันนั้น เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ แต่จะต้องไม่นับรวมงบรายจ่ายในการชำระดอกเบี้ยของรัฐบาล เพราะหากรวมแล้วการเข้าสู่งบประมาณแบบสมดุลอาจต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 ปี

"เราเชื่อว่าจะบรรลุเป้าหมายงบสมดุลได้ภายใน 5 ปี ซึ่งได้นับรวมงบรายจ่ายไว้ทุกข้อแล้ว ยกเว้นงบชำระดอกเบี้ยเงินกู้ของรัฐบาล...แต่ถ้ารวมดอกเบี้ยเงินกู้ อาจจะต้องเพิ่มไปอีก 3 ปี"รมว.คลัง กล่าว

สำหรับสมมติฐานของการเข้าสู่งบประมาณรายจ่ายแบบสมดุลนั้น คาดว่า ในงบประมาณปี 54 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) จะอยู่ที่ 4.5% อัตราเงินเฟ้อ 2% การจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ที่ 1.65 ล้านล้านบาท งบรายจ่ายที่ 2.07 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 1.43 แสนล้านบาท แต่หากรวมการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ จะขาดดุลงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท

ปีงบประมาณ 55-56 คาดว่าจีดีพีจะโต 4.5% อัตราเงินเฟ้อ 3% การจัดเก็บรายได้จะเพิ่มขึ้นปีละ 8.25% ส่วนงบรายจ่ายจะเพิ่มขึ้นในอัตราปกติที่ปีละ 5.3% ภายใต้โครงการลงทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้น 1% ของจีดีพี แต่ปี 55 จะขาดดุลงบประมาณ 1.05 แสนล้านบาท แต่หากรวมการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ จะขาดดุลงบประมาณ 3.2-3.3 แสนล้านบาท ส่วนปี 56 จะขาดดุลงบประมาณ 43,000 ล้านบาท แต่หากรวมการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ จะขาดดุล 2.9 แสนล้านบาท

ขณะที่ปี 57 จะกลับมาเกินดุลงบประมาณได้เล็กน้อย แต่หากรวมการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ จะยังขาดดุลอยู่ 2.4 แสนล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าเมื่อถึงปี 61 จะสามารถกลับมาเกินดุลงบประมาณได้ราว 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นยอดที่รวมการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ไว้แล้ว

อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลสามารถบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายได้อยู่ในระดับที่สมดุลแล้ว คาดว่าจะทำให้ยอดหนี้สาธารณะในอีก 5 ปีข้างหน้าจะอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 48% ของจีดีพี

รมว.คลัง กล่าวว่า การกำหนดยุทธศาสตร์การคลังยั่งยืนเพื่อไทยเข็มแข็งนี้ มีเป้าหมาย 3 ข้อ คือ 1.เพื่อสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะบริหารประเทศ โดยยึดหลักเสถียรภาพความมั่นคงทางการคลัง 2.เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้ว่าจะมีเม็ดเงินงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลสวัสดิการด้านต่างๆ ให้แก่ประชาชน อีกทั้งเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการด้านการคลังให้มีเม็ดเงินที่เพียงพอต่อการดูแลประชาชนในทุกด้าน

3.การกำหนดยุทธศาสตร์ดังกล่าว อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อว่าประเทศและเศรษฐกิจจะมั่คงได้ ต้องมีความเสมอภาคในการจัดสรรประโยชน์ให้ประชาชนได้อย่างยุติธรรมและโปร่งใส

รมว.คลัง กล่าวว่า หลังจากการลงนามใน MOU แล้ว กระทรวงการคลังจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อที่จะนำมาให้เกิดผลของการเป็นงบประมาณแบบสมดุลภายในเวลา 5 ปี โดยคาดว่าจะมีการประกาศโครงสร้างของคณะกรรมการฯ ได้ในเร็วๆ นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ