นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งออกที่ขยายตัวสูงมาก แนวโน้มค่าเงินบาทแข็งค่าจึงเป็นไปตามธรรมชาติ และแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะมีการบริหารจัดการแล้ว แต่สุดท้ายก็หนีความจริงไปไม่พ้น เนื่องจากตลาดมีความต้องการเงินบาทมากกว่าดอลลาร์ ดังนั้น ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนก็จะต้องมีการปรับตัวเพื่อบริหารจัดการในส่วนนี้
ในส่วนของรัฐบาลจะพยายามให้ความสำคัญกับการขยายฐานของเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มบทบาทของเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคการลงทุน และภาคการบริโภคในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลอยู่แล้ว
นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า เช้านี้เงินบาท แข็งค่ามาที่ 31.96/97 บาท/ดอลลาร์ จากเปิดตลาด 31.99/32.00 บาท/ดอลลาร์ ถือระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 26 เดือน และล่าสุดเงินบาททรงตัวอยู่ที่ระดับ 31.97 บาท/ดอลลาร์ หลังจาก ธปท.เข้ามาดูแลค่าเงินเมื่อแตะ 31.96 บาท/ดอลลาร์ แต่เงินบาทก็ยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อไปได้อีก เนื่องจากดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า
ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า แนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าอาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ข้าว และมันสำปะหลัง ซึ่งจะทำให้ไทยมีปัญหาเสียเปรียบด้านราคากับประเทศคู่แข่งที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน แต่ทั้งนี้เชื่อว่าผู้ส่งออกจะสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งมีวิธีการบริหารต้นทุนอยู่แล้ว
โดยภาพรวมเชื่อว่า การที่เงินบาทแข็งค่าคงไม่ส่งกระทบแต่เพียงด้านเดียว เพราะยังมีอีกด้านที่จะได้รับผลดี คือ การนำเข้าที่จะทำให้ไทยสามารถซื้อสินค้าหรือนำเข้าวัตถุดิบได้ในราคาที่ถูกลง เช่น ถั่วเหลือง, ปุ๋ยเคมี, ตะกั่ว และโลหะ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าบางประเภทลงได้
อย่างไรก็ดี จากภาวะเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าลงมาต่ำกว่าระดับ 32 บาท/ดอลลาร์นี้ เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.0-3.5% เนื่องจากสมมติฐานยังใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล, อัตราแลกเปลี่ยนที่ 31-33 บาท/ดอลลาร์ และรัฐบาลยังคงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชน