นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะทำงานพิจารณารายละเอียดโครงการเช่ารถเมล์ NGV เพิ่มเติม ร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม
เพราะที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงคมนาคมดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.52 แต่ที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตในประเด็นปลีกย่อยต่างๆ ซึ่งกระทรวงคมนาคมสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น จึงไม่จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมอีก หากคณะทำงานมีข้อสงสัยกระทรวงคมนาคมจะชี้แจงโดยยืนยันข้อมูลเดิมทั้งหมด
"โครงการเช่ารถเอ็นจีวี 4 พันคันเป็นโครงการเดียวที่ครม.ให้ตรวจสอบเงื่อนไขทีโออาร์ และเป็นโครงการที่ถูกตรวจสอบมากที่สุดต่างจากโครงการอื่นๆ แต่ถูกตรวจสอบมากขนาดนี้ก็ยังทำไม่ได้"นายโสภณ กล่าว
ทั้งนี้ ประเด็นที่คณะทำงานชุดนายไตรรงค์จะตรวจสอบเพิ่มเติมนั้น เป็นสิ่งที่กระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงในครม.ทั้งหมดแล้ว คือ 1)โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ตั้งเป้าลดพนักงาน 6,062 คน แต่มีผู้แสดงความจำนงเข้าโครงการ 2,708 คนนั้น กระทรวงได้เตรียมแผนโดยจะขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล 2,532 ล้านบาท เพื่อจ่ายชดเชยผู้ร่วมโครงการ โดยพนักงานส่วนที่เหลือจะนำมารองรับโครงการรถโดยสารฟรีเพื่อประชาชนของรัฐบาล จำนวน 1,992 คน ส่วนที่เหลือเกินความต้องการประมาณ 1,300 คน จะสนับสนุนให้เข้าร่วมกับรถร่วมเอกชนตามสัญญาจ้างเดินรถเชิงคุณภาพหรือ PERFORMANCE-BASED CONTRACT หรือพีบีซี จำนวน 1,000-1,200 คัน
2).ผลกระทบจากโครงการรถโดยสารฟรีเพื่อประชาชน ชี้แจงแล้วว่าปัจจุบันมีผู้ใช้รถขสมก.วันละ 1.3 ล้านคน และมีผู้ใช้บริการรถโดยสารฟรีวันละ 4 แสนคน ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณสนับสนุนปีละ 1,919 ล้านบาท จึงเหลือผู้ใช้บริการในระบบอีกวันละ 9 แสนคน ซึ่งจากการคำนวณเบื้องต้นพบว่าแม้จะมีโครงการรถโดยสารฟรี แต่โครงการรถเอ็นจีวียังมีกำไรวันละ 400 บาทต่อคัน ขณะที่ปัจจุบันรถขสมก.มีผลขาดทุนเฉลี่ยวันละ 5 พันบาทต่อคัน
3) การเพิ่มรถร่วมบริการของเอกชน จำนวน 1,000-1,200 คันตามสัญญาจ้างเดินรถเชิงคุณภาพหรือพีบีซี ซึ่งไม่อยู่ในข้อเสนอเดิมนั้น ยืนยันว่าในแผนปรับปรุงการบริหารจัดการขสมก.มีเรื่องการให้เอกชนร่วมเดินรถตามสัญญาพีบีซีมาตั้งแต่แรก โดยรถเอ็นจีวี 4 พันคันจะนำมาบรรจุในเส้นทางเดินรถที่ปรับปรุงใหม่จำนวน 155 เส้นทาง ซึ่งในความเป็นจริงต้องใช้รถโดยสาร 7,405 คัน และในระยะเริ่มต้นโครงการจะใช้สัญญาจ้างพีบีซีมาให้บริการในเส้นทางใหม่ จึงไม่มีปัญหาการแย่งชิงผู้โดยสาร
"โครงการนี้จะไม่ทำให้ ขสมก.ต้องเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะมีรถโดยสารใหม่มาให้บริการ ปัจจุบันขสมก.ขาดทุนวันละ 15-16 ล้านบาท ถ้ายิ่งช้าจะยิ่งรักษายาก หากไม่ทำอะไรคาดว่าในปี 2557 ขสมก.จะมีหนี้สินสะสมสูงถึง 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบัน 7 หมื่นล้านบาท"นายโสภณ กล่าว