ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบยูโร หลังเฟดซื้อพันธบัตรกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 11, 2010 07:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร เงินปอนด์ และดอลลาร์ออสเตรเลีย ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (10 ส.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศว่าจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมกับคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในการประชุมครั้งล่าสุด

ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้น 0.36% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3184 ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 9 ส.ค.ที่ 1.3232 ดอลลาร์ และเงินปอนด์ดิ่งลง 0.31% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5852 ดอลลาร์ จากระดับ 1.5901 ดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.68% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 85.340 เยน จากระดับของวันจันทร์ที่ 85.920 เยน และอ่อนตัวลง 0.06% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0479 ฟรังค์ จากระดับ 1.0485 ฟรังค์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียดิ่งลง 0.32% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.9132 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันจันทร์ที่ 0.9161 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 0.66% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7235 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7283 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนในตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กมีปฏิกริยาในเชิงบวกต่อข่าวที่ว่า เฟดจะนำรายได้จากตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) และตราสารที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันของแฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ (GSE) ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนแล้วนั้น ไปซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาล

การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญ จากเดิมที่คณะกรรมการเฟดวางแผนที่จะใช้ยุทธศาสตร์ถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่เคยนำมาตรการดังกล่าวมาใช้เมื่อครั้งที่สหรัฐเพิ่งเผชิญวิกฤติการเงินครั้งใหญ่

ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการเฟดมีมติด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ไว้ที่ระดับ 0 - 0.25% พร้อมกับออกแถลงการณ์ประเมินภาวะเศรษฐกิจว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจและตัวเลขจ้างงานชะลอตัวลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และคาดว่าในระยะใกล้นี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนนั้น แม้ว่าเริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่ก็ถูกจำกัดจากอัตราว่างงานที่ยังเคลื่อนไหวในระดับสูงและภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อ

ส่วนอัตราการนำทรัพยากรมาใช้ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการเฟดตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ค.ของเยอรมนี พุ่งสูงขึ้นตามต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนี ซึ่งใช้วิธีคำนวณเดียวกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือนมิ.ย. 0.8% สอดคล้องกับคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ส่วนราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.3%

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ประสิทธิภาพการผลิตในไตรมาส 2 ร่วงลง 0.9% ต่อปี หลังจากพุ่งขึ้น 3.9% ต่อปีในไตรมาสแรก ส่วนต้นทุนแรงงานต่อหน่วยขยับขึ้น 0.2% ต่อปีในไตรมาส 2 หลังจากดิ่งลง 3.7% ต่อปีในไตรมาสแรก

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยวันพุธ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนมิ.ย. และกระทรวงการคลังสหรัฐจะเปิดเผยงบประมาณของรัฐบาลกลางเดือนก.ค.

ส่วนวันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และวันศุกร์ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ค. ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนก.ค. นอกจากนี้ สหรัฐจะเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นขั้นต้นเดือนส.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ