ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองสัญญาณฟองสบู่อสังหาฯยังไม่เกิด แต่มีประเด็นต้องติดตาม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 11, 2010 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ว่าขณะนี้สัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังไม่ถึงระดับอันตรายเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตปี 40 แต่มีปัจจัยบางประเด็นที่ยังคงต้องติดตาม โดยเฉพาะปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และภาวะอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ การวิเคราะห์สภาวะปัจจัยแวดล้อมอสังหาริมทรัพย์ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาฟองสบู่ในระยะข้างหน้าได้ คือ ความสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน เป็นที่น่าสังเกตว่ากลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในขณะนี้ต่างมุ่งความสนใจไปที่ลูกค้ากลุ่มเดียวกัน คือ ตลาดระดับล่างถึงระดับกลาง เนื่องจากเห็นว่าความต้องการมีอยู่สูง โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าและย่านใจกลางเมืองที่มีออกมามากในขณะนี้

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพบว่าโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดใหม่ใช้ระยะเวลาขายยาวนานขึ้นกว่าในระยะที่อสังหาริมทรัพย์เริ่มเฟื่องฟู (ปี 49-50)ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังหากมีการพัฒนาสินค้าออกมาสู่ตลาดมากกว่าความต้องการที่มีอยู่จริง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นก็ตาม แต่คอนโดมิเนียมจะมีความเสี่ยงในการบริหารโครงการมากกว่าโครงการแนวราบ เนื่องจากแต่ละอาคารผลิตจำนวนยูนิตออกมาเป็นจำนวนมาก และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างนานกว่า

นอกจากนั้น ยังการเข้ามาเก็งกำไรในใบจองโครงการคอนโดมิเนียม จากผลสำรวจตลาดเบื้องต้นของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าโครงการคอนโดมิเนียมในทำเลที่มีศักยภาพ และโครงการที่มีแบรนด์เป็นที่นิยม เริ่มมีสัญญาณการเข้ามาเก็งกำไรในใบจองมากขึ้น โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15-20 ของยอดขายโครงการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า กิจกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ซึ่งต้องชำระเงินค่าใบจองเป็นวงเงินที่สูงขึ้น นอกจากนี้อาจส่งผลต่อผู้ประกอบการโครงการในการทำตลาด เพื่อที่จะให้เข้าถึงกลุ่มผู้ที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และหากการเก็งกำไรในลักษณะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงของโครงการอาจมีเพิ่มขึ้นหากผู้ซื้อมีการทิ้งใบจองหรือทิ้งดาวน์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อโครงการในภายหลังได้ เนื่องจากตลาดคอนโดมิเนียมมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง และมีการเปิดโครงการกันมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้น และโดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูงดังเช่นในปัจจุบัน

นอกจากนั้น ราคาที่ดินซึ่งเป็นต้นทุนของการพัฒนาที่อยู่อาศัย และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่ ปัจจุบันราคาที่ดินในบางทำเลมีการเติบโตสูงขึ้นกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะในทำเลที่เริ่มมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ในขณะที่ที่ดินทำเลที่อยู่ตามเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าตามแผนพัฒนาการลงทุนของรัฐบาลก็มีการขยับตัวขึ้นไปล่วงหน้าแล้ว

ราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นจะส่งผ่านมายังราคาที่อยู่อาศัยที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามในอนาคต ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ในขณะที่อำนาจการซื้อของผู้บริโภคยังคงเปราะบาง และราคาที่ดินหรือราคาที่อยู่อาศัยในบางทำเลที่อาจจะสูงเกินกว่าราคาประเมิน ทำให้ผู้ซื้ออาจประสบปัญหาการขอวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ไม่ถึงตามวงเงินที่ต้องการในภายหลัง

ขณะที่จากการที่โครงการคอนโดมิเนียมได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาจับตลาดคอนโดมิเนียมมากขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดคอนโดมิเนียมในปัจจุบันมีการแข่งขันที่รุนแรง อีกทั้งตลาดส่วนใหญ่กลายเป็นของผู้ประกอบการรายๆ ใหญ่ ซึ่งการเข้ามาของผู้ประกอบการที่ขาดประสบการณ์และความชำนาญในตลาดคอนโดมิเนียม ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความผันผวนสูง

และ กลยุทธ์การแข่งขันของผู้ประกอบการที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในภายหลัง โดยกลยุทธ์หนึ่งที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ คือ การผ่อนดาวน์ต่ำ ซึ่งผู้ซื้อที่อยู่อาศัยอาจจะไม่ได้คำนึงถึงขึ้นตอนที่จะต้องขอสินเชื่อจากธนาคาร ที่ปกติแล้วอาจต้องผ่อนชำระกับสถาบันการเงินเป็นวงเงินที่สูงกว่าการผ่อนดาวน์ ซึ่งบางกรณีผู้ซื้อที่อยู่อาศัยบางรายอาจต้องประสบกับปัญหาความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อ โดยเฉพาะภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาขึ้น นอกจากนี้กลยุทธ์ดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้เกิดการเข้ามาเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคควรคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริง โดยผู้ซื้ออาจต้องมองปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย อาทิ ความน่าเชื่อถือของโครงการ คุณภาพและรูปแบบของที่อยู่อาศัย ความชัดเจนของระบบโครงการรถไฟฟ้า รวมถึงราคาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชำระ เป็นต้น เนื่องจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีการแข่งขันสูง และมีสินค้าออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคมีข้อเปรียบเทียบในแต่ละสินค้ามากขึ้น และมีเวลาในการเลือกที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความต้องการ และความสามารถในการผ่อนชำระที่เหมาะสมของตนเอง

ในขณะที่ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อเป็นการลงทุน อาจมองถึงความคุ้มทุน และผลตอบแทนจากการลงทุนในระยาวเป็นหลัก เนื่องจากการลงทุนระยะสั้นๆ อาจเผชิญกับความผันผวนของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภายใต้ปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความซับซ้อนซึ่งต่างจากอดีต อาทิ ความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจ การเงิน ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ รวมถึงเสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง

แม้จะมีความกังวลต่อภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และผลกระทบที่อาจจะตามมา แต่ก็ยังเชื่อว่าการที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อมีการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงและมีการศึกษาวิจัยตลาดที่ดีขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการมีการลงทุนอย่างรอบคอบและระมัดระวังไม่ลงทุนเกินตัว ตลอดจนยอดอุปทานคงค้างในปัจจุบันก็ยังคงอยู่ต่ำกว่าในช่วงก่อนวิกฤตปี 40 ทำให้คาดว่า ปัญหาในธุรกิจคงจะไม่รุนแรงจนนำไปสู่ภาวะถดถอยดังเช่นวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในปี 40


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ