(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคก.ค.53 ที่ 71.4 สูงขึ้นจากมิ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 11, 2010 14:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.ค.53 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 71.4 สูงขึ้นจากเดือนมิ.ย.53 ซึ่งอยู่ที่ 69.1 และถือว่าเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 70.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 96.4

"ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายงาน และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีความหวังว่าสถานการณ์ต่างๆน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์การเมือง ซึ่งหากไตรมาส 3 ยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และไตรมาส 4 ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายใช้สอย และถ้าไม่มีสถานการณ์อะไรที่เป็นอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นจากนี้ หรืออุบัติเหตุหนักๆ เชื่อว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีเทรนด์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ และคาดว่าจะดีขึ้นในอัตราเร่ง"นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณืเศรษฐกิจและธุรกิจฯ กล่าว

สำหรับปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค.53 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ปรับเพิ่มประมาณการณ์ GDP ปี 53 เป็น 5.5% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.5% และคาดการณ์ว่า GDP ไตรมาส 2/53 จะเติบโตได้ราว 8%

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศปรับตัวลดลง, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ทำให้ความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลดน้อยลง และการส่งออกในเดือนมิ.ย.53 ขยายตัว 47.1% และมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ประกอบกับการขับเคลื่อนแผนปรองดองแห่งชาติของรัฐบาลเป็รรูปธรรมมากขึ้น ส่งผลต่อจิตวิทยาในเชิงบวกว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นเป็นลำดับ, เงินบาทปรับตัวแข็งค่า สะท้อนว่ามีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศโดยสุทธิ, SET Index ในเดือนกรกฎาคม 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 58.52 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 797.31 จุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 เป็น 855.83 จุด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2553 และโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัตืการไทยเข้มแข็งเริ่มมีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น, ความกังวลสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง, ความไม่มั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาหนี้สาธารณะใน EU และความกังวลเกี่ยวกับการชะลอโครงการลงทุนในมาบตาพุด

ทั้งนี้ ผลสำรวจดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์ใหม่ที่อยู่ในระดับ 91.2 ดีขึ้นจาก 87.7 ในเดือนมิถุนายน เป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 61 เดือนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 เป็นต้นมา ด้านดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ เดือนกรกฎาคม 2553 อยู่ที่ระดับ 82.3 ปรับตัวดีขึ้นจาก 81.0 เป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 53 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2549 ขณะที่ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว เดือนกรกฎาคม 2553 อยู่ที่ 99.0 เทียบกับเดือนมิถุนายนที่อยู่ในระดับประมาณ 95.3 และเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 53 เดือนนับตั้งแต่การทำสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม 2549


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ