นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการดำเนินโครงการเช่ารถโดยสารเอ็นจีวี 4 พันคันว่า กระทรวงคมนาคมพร้อมชี้แจงรายละเอียดในการดำเนินโครงการต่อคณะกรรมการที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า กระทรวงคมนาคมมั่นใจสามารถตอบคำถามได้ทุกประเด็น เพราะโครงการนี้มีผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และการเสนอข้อมูลเข้าครม.เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าครบถ้วนแล้ว
"โครงการเช่ารถโดยสารเอ็นจีวี 4,000 คัน ไม่ได้เริ่มในรัฐบาลนี้ แต่เริ่มตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งขสมก.ต้องการฟื้นฟูองค์กร แก้ปัญหาขาดทุน และพัฒนาบริการ และยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมทำงานด้วยความโปร่งใส และจะพยายามทำต่อไปแม้ว่าจะมีปัญหาอุปสรรค ซึ่งตามแผนการฟื้นฟูองค์กรนี้ ขสมก.จะมีกำไรจากการเช่ารถโดยสารมาให้บริการประมาณวันละ 2 ล้านบาทต่อวันต่อคัน และทำให้ขสมก.มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้" นายสุพจน์ กล่าว
ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า เรื่องประเด็นความโปร่งใสในการดำเนินโครงการเช่ารถโดยสารใช้เอ็นจีวี 4 พันคันเป็นเรื่องที่ควรจบไปได้แล้ว เพราะโครงการเคยตั้งกรรมการจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งมีข้อสรุป 6 ประเด็นให้กระทรวงคมนาคมตอบ ซึ่งก็สามารถชี้แจงได้หมด ซึ่งเรื่องความโปร่งใส จึงไม่เป็นประเด็นอีกต่อไป
ส่วนคำถามว่าทำไมโครงการนี้ไม่ผ่านการพิจารณาของ ครม. นั้น นายโสภณ กล่าวว่า ปัญหาของโครงการรถเมล์เอ็นจีวี คือการเชื่อของสังคมที่เชื่อไปแล้วว่าโครงการมีความไม่โปร่งใสมีทุจริต โดยเฉพาะประเด็นที่คิดว่าโครงการมีการนำเงินของรัฐไปลงทุน ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะโครงการนี้เป็นการลงทุนโดยเอกชน และต้องเก็บรายได้เข้ามาชดเชยเงินลงทุน เมื่อวิธีลงทุนเป็นแบบนี้ใครจะยอมมาจ่ายเงินค่านายหน้า(คอมมิชชั่น) โครงการมากมาย เพราะยังไม่รู้เลยว่าในอนาคตโครงการจะมีรายได้เท่าไหร่ คุ้มค่าหรือไม่
ส่วนนายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า โครงการเช่ารถโดยสารเอ็นจีวี 4,000 คัน เป็นหนึ่งใน 6 โครงการตามแผนฟื้นฟูขสมก. ซึ่งหลักการคือการลดรายจ่าย โดยรายจ่ายส่วนใหญ่มี 2 ส่วน คือ 1.เงินเดือน สามารถลดได้จากการปรับลดจำนวนพนักงานให้เหมาะสม 2.ค่าใช้จ่ายน้ำมัน ซึ่งต้องหันไปก๊าซเอ็นจีวีซึ่งต้นทุนต่ำกว่าน้ำมันดีเซล หากแผนฟื้นฟูไม่ผ่าน ขสมก.ก็ต้องเตรียมปรับปรุงรถเดิมที่ให้บริการอยู่ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะอายุรถโดยสารของขสมก.เก่ามากแล้ว