ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดบาทมีโอกาสแข็งค่าแตะ 31.50 บาท/ดอลลาร์ภายในสิ้นปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 18, 2010 12:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์ภายในสิ้นปี 53 หลังจากทยอยฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิ.ย.53 หลังจากที่เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศช่วงกลางเดือนเม.ย.-พ.ค.53

ทั้งนี้ มีแรงหนุนจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ ความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้วัฎจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 54 เป็นอย่างเร็ว ซึ่งทำให้คาดว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ น่าจะยังคงเป็นปัจจัยลบของเงินดอลลาร์ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

อีกปัจจัย คือ แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออกอันเนื่องมาจากการเกินดุลการค้าสูง รายได้ที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีแรงซื้อเงินบาทในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และหนุนให้เงินบาทปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเงินบาทสามารถแข็งค่าทะลุแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยาที่ 32.00 บาท/ดอลลาร์ได้ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม 53

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคาดว่า ไทยน่าจะยังคงเกินดุลการค้าในช่วงครึ่งหลังของปี 53 ในระดับที่เกินว่า 5.0 พันล้านดอลลาร์ฯ ตามประมาณการกรณีพื้นฐาน ซึ่งเป็นนัยว่าแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกน่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 53

ตลาดการเงินของไทยก็ได้รับอานิสงส์จากกระแสเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคเอเชียด้วยเช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่แม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 53 แต่ก็มีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ ย่อมจะทำให้เอเชียยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจของนักลงทุนเช่นเดิม

ประกอบกับ ปัจจัยทางการเมืองในประเทศที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมากนักหลังจากการประกาศยุติการชุมนุมในย่านราชประสงค์ เอื้อให้กระแสเงินทุนจากต่างประเทศทยอยไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินไทยทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังแข็งแกร่ง ขณะที่การคาดการณ์ถึงแนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ กว้างขึ้นตามไปด้วย

แม้เงินบาทจะยังคงอยู่ในแนวโน้มแข็งค่า แต่ความเคลื่อนไหวของค่าเงินอาจมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งก็เป็นนัยว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อาจจำต้องทำหน้าที่ในการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความผันผวนมีสาเหตุจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนค่าเงินเอเชียรวมถึงเงินบาทในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการดูแลกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศของทางการในภูมิภาคเอเชีย (และของทางการไทย) อาจจะมุ่งเป้าไปที่การชะลอการไหลเข้าของเงินทุนเก็งกำไร ควบคู่ไปกับการเตรียมแผนการรับมือในกรณีที่กระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนำไปสู่สถานการณ์ที่ทำให้มีการไหลออกของเงินทุนอย่างฉับพลัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ