ก.เกษตรฯเปิดรับฟังความคิดเห็นการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 18, 2010 12:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกร่างกฎหมายการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวมานำเสนอในรูปแบบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)

ทั้งนี้ ในส่วนของร่างพระราชบัญญัติกองทุนสวัสดิการชาวนาที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำการยกร่างไว้เรียบร้อยแล้วนั้นมีทั้งสิ้น 7 หมวดที่สำคัญ ได้แก่ หมวด 1 ว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งกองทุนและลักษณะของกิจการกองทุน หมวด 2 ว่าด้วยเรื่องการควบคุมและการบริหารกิจการของกองทุน หมวด 3 ว่าด้วยเรื่องเรื่องสำนักงานกองทุนสวัสดิการชาวนา หมวด 4 ว่าด้วยเรื่องสมาชิกและสิทธิประโยชน์ของสมาชิก หมวด 5 ว่าด้วยเรื่องการเงิน การบัญชี และการตรวจสอบ หมวด 6 ว่าด้วยเรื่องการควบคุมกำกับการจัดการทุน และหมวด 7 ว่าด้วยเรื่องบทกำหนดโทษ

นายธีระ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ร่างพระราชบัญญัติกองทุนสวัสดิการชาวนาฉบับนี้มีทั้งสิ้น 57 มาตราโดยมาตราที่สำคัญ ได้แก่ องค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชาวนา ซึ่งเรียกโดยย่อว่า คณะกรรมการ กสช. เพื่อควบคุมและบริหารกิจการของกองทุน ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบดีกรมการข้าว และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญ ด้านข้าว กฎหมาย ด้านละ 1 คน และด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน หรือการธนาคาร อีกด้านละ 1 คน และที่สำคัญคือมีผู้แทนชาวนา จำนวน 6 คน โดยมีผู้จัดการสำนักงานกองทุนสวัสดิการชาวนาเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการกองทุนฯ

สำหรับกรอบแนวคิดที่สำคัญของการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา ประกอบด้วย 5 แนวทางหลักด้วยกัน คือ 1. เป็นสวัสดิการเพื่อประโยชน์สำหรับสมาชิกที่ประกอบอาชีพทำนาโดยเฉพาะ และมีรายได้แน่นอน 2.มีการเก็บเงินเข้ากองทุนโดยคำนวณจากฐานรายได้ของการจำหน่ายข้าวเปลือกในแต่ละปี 3.จัดให้มีสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น การจัดหาปัจจัยการผลิตและอื่นๆ ให้กับผู้ประกอบอาชีพทำนา 4.รัฐบาลสามารถพิจารณาเงินที่จะมาสมทบจากฐานภาษีรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับข้าว ซึ่งจะทำให้กองทุนมีความมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น 5.เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาเห็นว่าอาชีพทำนามีเกียรติศักดิ์ศรีและมั่นคง ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความรักและยึดถือการประกอบอาชีพทำนาต่อไป

ในส่วนสาระสำคัญการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา ซึ่งนอกจากจะให้ชาวนาเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจ โดยมีข้อจำกัดขั้นสูงของพื้นที่นาเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าวแล้ว กระทรวงเกษตรฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะชาวนาให้เข้ามามีส่วนร่วมในกำหนดรูปแบบการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับจากกองทุน เช่น เงินบำเหน็จบำนาญ เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต เงินสงเคราะห์บุตร รวมทั้งการจัดหาปัจจัยการผลิตโดยไม่ซ้ำซ้อนกับส่วนที่รัฐบาลจัดหาให้อยู่ แล้ว เช่น ค่ารักษาพยาบาล

พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งหาวิธีบริหารจัดการกองทุนสำหรับสมาชิกบางรายไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น รวมทั้งกรณีที่ชาวนาบางรายที่ในบ้างครั้งก็เข้ามาอยู่ในระบบของกองทุนประกัน สังคม และบางครั้งก็กลับไปทำนา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะมีการศึกษาข้อมูลการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการสำหรับเกษตรกรแยกออกจากสวัสดิการพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไปมาประกอบด้วย เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย

"กรณีที่รัฐบาลเห็นควรจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา เพื่อต้องการให้เป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรี เพราะเห็นว่าประเทศไทยมีชาวนามากถึง 3.7 ล้านครัวเรือน หรือ 15-17 ล้านคน หรือคิดเป็น 64% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด โดยในแต่ละปีสามารถปลุกข้าวได้ผลผลิตมากถึง 30 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 180,000-200,000 ล้านบาท และมีการบริโภคในประเทศ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 230,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ข้าวนับเป็นวิถีชีวิตของคนไทย และชาวนาเป็นอาชีพยากลำบาก ตากแดดตากฝน ฐานะยากจน ที่สำคัญชาวนามีอายุมากขึ้น ขณะที่คนรุ่นใหม่ปฏิเสธการสืบทอดอาชีพ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้อนาคตประเทศไทยอาจไม่มีผู้ทำหน้าที่เพาะปลูกข้าว ที่จะก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และสูญเสียความเป็นผู้นำด้านข้าวของโลกในที่สุด" นายธีระ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ