FED เข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐมูลค่า $2.551 พันล้าน มุ่งหนุนศก.-สกัดเงินไหลออกจากระบบการเงินสหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 18, 2010 12:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมูลค่า 2.551 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเข้าซื้อครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค.2552 โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้เม็ดเงินไหลออกจากระบบการเงินของสหรัฐ

ทั้งนี้ เฟดได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐทั้งสิ้น 14 ชุด จากทั้งหมดที่รัฐบาลนำออกจำหน่าย 25 ชุด โดยพันธบัตรที่เฟดเข้าซื้อครั้งนี้จะครบกำหนดไถ่ถอนตั้งแต่เดือนส.ค.2557 ไปจนถึงเดือนก.พ.2559 โดยเฟดสาขานิวยอร์กรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการซื้อพันธบัตรผ่านทางตลาดเปิด เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่เฟดวางไว้

เฟดวางแผนที่จะพยุงเม็ดเงินในพอร์ทฟอลิโอของเฟด หรือ System Open Market Account (SOMA) ให้อยู่ที่ระดับ 2.054 ล้านล้านดอลลาร์ ด้วยการนำรายได้จากตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) ไปซื้อพันธบัตร ซึ่งการเข้าซื้อพันธบัตรในครั้งนี้นับเป็นความพยายามครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปีของเฟด โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ การดำเนินการของเฟดยังสอดคล้องกับที่ได้เฟดให้ได้คำมั่นสัญญาไว้ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า เฟดจะนำรายได้จากตราสารหนี้ MBS และตราสารที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันของแฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ (GSE) ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนแล้วนั้น ไปซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาล ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญ จากเดิมที่คณะกรรมการเฟดวางแผนที่จะใช้ยุทธศาสตร์ถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป

ข้อมูลจาก BGCantor Market Data ระบุว่า ข่าวการเข้าซื้อพันธบัตรของเฟดส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีไต่ขึ้น 0.07% สู่ระดับ 2.63% หลังจากลดลง 0.11% เมื่อวานนี้ที่ตลาดพันธบัตรนิวยอร์ก

นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค กล่าวว่า เฟดพยายามรักษาระดับเงินทุนในพอร์ท SOMA ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว และคาดว่าเฟดอาจจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอีก 2.84 แสนล้านดอลลาร์ในปีหน้า หรือมากกว่าที่จีนและญี่ปุ่นเข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐรวมกันในช่วงเวลาที่สิ้นสุด ณ เดือนพ.ค.ปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ