(เพิ่มเติม) นายกฯ ยันงบปี 54 คุ้มค่าถึงมือประชาชนจริง จวก"สุรพงษ์"ให้ข้อมูลผิดตลอด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 18, 2010 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า เม็ดเงินที่จะลงไปตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 54 จะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถลงไปถึงมือประชาชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งที่ฝ่ายค้านดูหมิ่นว่ารัฐบาลนี้ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้ หรือไม่สามารถหารายได้เข้าประเทศได้นั้น ในความจริงแล้วช่วงระยะเวลาปีครึ่ง รัฐบาลได้ทำให้เศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงมากมาตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะรับตำแหน่ง กลับมาเติบโตได้มากว่า 10% ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

ส่วนที่ฝ่ายค้าน ระบุว่า รัฐบาลว่าไม่สามารถหาเงินรายได้เข้าประเทศได้นั้น ก็ไม่จริงเช่นกัน เพราะเมื่อดูจากรายได้ภาคการส่งออก รายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา กลับมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐบาลยังไม่ได้ใช้งบประมาณมากเท่าที่ตั้งไว้ แต่รัฐบาลประสบผลสำเร็จจากการแก้ไขปัญหาบางเรื่อง ซึ่งหลายปัญหาไม่จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการทุ่มงบประมาณเสมอไป

ขณะที่การลงทุนนั้น ยืนยันว่าจะเป็นการลงทุนที่มีความหมายต่ออนาคตของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในด้านแหล่งน้ำ ถนน รถไฟ โรงเรียน โรงพยาบาล

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการก่อหนี้ของรัฐบาลว่า แม้รัฐบาลชุดนี้มีแผนจะต้องกู้เงินค่อนข้างมาก เพื่อแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ถือว่ารุนแรงนั้น แต่สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็สามารถบริหารจัดการได้จนทำให้ลดการกู้เงินลงได้ถึง 50% ซึ่งบ่งบอกว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 42.5% นั้นถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศ และมั่นใจว่าจะไม่เพิ่มขึ้นไปสูงถึงระดับ 60% ต่อจีดีพีตามที่หลายฝ่ายกังวล

นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงด้วยว่า รัฐบาลไม่เคยจะทำให้เป็นรัฐสวัสดิการตามที่ฝ่ายค้านกล่าวอ้าง แต่รัฐบาลจะทำให้เกิดระบบสวัสดิการสำหรับประชาชน เพราะถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนฟรี ระบบประกันรายได้ เบี้ยรายเดือนของคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นต้น

"ท่าน(นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.พรรคเพื่อไทย) ไม่เห็นด้วยก็เรื่องของท่าน แต่ผมเห็นว่าสำคัญและเป็นเงินที่ใช้จ่ายแล้ว ถึงมือพี่น้องประชาชนจริงๆ เพราะฉะนั้นที่พยายามดูหมิ่นดูแคลนว่าแก้ปัญหาไม่ได้นั้น ท่านพูดแบบนี้มาปีครึ่งแล้ว และตัวเลขที่ออกมาทีหลังก็พิสูจน์แล้ว ว่าท่านผิดมาโดยตลอด" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เหตุที่ขอแปรญัตติเพื่อปรับลดงบประมาณรายจ่ายปี 54 ลง 30% คิดเป็นเม็ดเงินถึง 6 แสนล้านบาท จากจำนวนงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น 2.07 ล้านล้านบาทนั้น เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลได้ย้ำอยู่ตลอดว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ ดังนั้นจึงมองว่ารัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เม็ดเงินงบประมาณรายจ่ายในปี 54 จำนวนมากถึง 2.07 ล้านล้านบาท

นายสุรพงษ์ ยอมรับว่า ในท้ายสุดจะไม่มีการปรับแก้ไขตัวเลขในชั้นของคณะกรรมาธิการแล้ว และเชื่อว่าสภาฯ จะผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 54 อย่างแน่นอน

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้ชี้แจงถึงการตั้งข้อสังเกตของนายสุรพงษ์ ที่ว่าเหตุใดเมื่อรัฐบาลคาดว่าจะมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าประมาณการณ์ในปีงบ 53 แล้ว แต่ยังตั้งงบประมาณรายจ่ายในปี 54 สูงถึง 2.07 ล้านล้านบาท โดยเห็นว่าการตั้งข้อสังเกตดังกล่าวอาจจะทำให้ประชาชนสับสนได้ เพราะจะกลับกลายเป็นว่าการที่รายได้ภาครัฐดีขึ้น จะเป็นเหตุผลที่ทำให้ฝ่ายค้านมองว่ารัฐบาลควรจะใช้จ่ายน้อยลง ทั้งๆ ที่ความเข้าใจทั่วไปที่ถูกต้องนั้น เหตุผลที่ควรจะใช้จ่ายน้อยลง คือกรณีที่การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์

ส่วนที่ฝ่ายค้านอ้างว่าการจัดเก็บรายได้ในปีงบ 53 จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 1.35 ล้านล้านบาท แต่กระทรวงการคลังกลับปรับประมาณการณ์ใหม่เป็น 1.65 ล้านล้านบาท รวมทั้งเดิมที่ในงบประมาณปี 54 ได้ตั้งเป้ารายได้ไว้ 1.65 ล้านล้านบาท แต่ล่าสุดกระทรวงการคลังออกมาบอกว่าน่าจะอยู่ที่ 1.72 ล้านล้านบาท ถือเป็นการใช้ตัวเลขหลอกหรือไม่ เหตุใดไม่นำตัวเลขจริงมาให้คณะกรรมาธิการได้พิจารณานั้น รมว.คลัง ชี้แจงว่า ฝ่ายค้านอาจไม่เข้าใจการจัดทำประมาณการณ์รายได้ รวมทั้งไม่เข้าใจขั้นตอนการพิจารณางบประมาณ

ทั้งนี้ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังประเมินว่างบประมาณปี 54 น่าจะจัดเก็บรายได้เข้าประเทศราว 1.65 ล้านล้านบาท แต่หลังจากนั้นเศรษฐกิจของประเทศเติบโตดีขึ้น การจัดเก็บรายได้มากขึ้น สืบเนื่องจากรายได้ภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุนที่เริ่มฟื้นตัว ดังนั้นเมื่อตัวเลขทุกตัวดีขึ้น กระทรวงการคลังจึงประมาณการณ์ตามข้อเท็จจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

"คงไม่ใช่ประมาณการณ์ไว้เดือน ม.ค. แล้วทุกอย่างต้องหยุดอยู่ที่ตัวเลขนั้น ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น แนวโน้มการจัดเก็บรายได้ดีขึ้น เราจึงเสนอข้อเท็จจริงให้ใหม่ ไม่ใช่การเสนอตัวเลขเท็จแต่อย่างใด" รมว.คลังชี้แจง

สำหรับยอดหนี้สาธารณะต่อจีดีพีนั้น ยอมรับว่ารัฐบาลจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดวิกฤติปีก่อน แต่การวัดว่าการก่อหนี้ในสุดท้ายแล้วเป็นภาระต่อประเทศมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องวัดผลจากการใช้เงินที่ได้มาจากการกู้ยืม ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขหนี้สาธารณะช่วงสิ้นมี.ค.53 สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียง 8.5% ขณะที่ช่วงสิ้นมี.ค.53 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกลับเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% เท่านั้น

"ความหมายคือ เรากู้มาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งผลในการกระตุ้นเพื่อขยายฐานเศรษฐกิจ ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เพิ่มขึ้น และระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีวันนี้ปรับลดลงแล้ว จากช่วงที่สูงที่สุดในปีก่อนที่ 44% มาเหลือ 42.5% และเราสามารถยกเลิกการกู้ยืมเงินตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทได้ เพราะเรามีประสิทธิภาพในการใช้เม็ดเงินงบประมาณและเงินกู้ในส่วนที่ทำไปแล้ว ส่งผลตามที่เราต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม" รมว.คลัง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ