(เพิ่มเติม) รมว.คลัง คาดเศรษฐกิจไทย Q2/53 โตกว่า 7%, บาทแข็งค่าตามภาวะศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 18, 2010 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย(จีดีพี) ไตรมาส 2/53 น่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 7% ตามสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามกระทรวงการคลังประเมินไว้แล้ว ซึ่งหากเทียบกับไตรมาส 1/53 นั้น จีดีพีไตรมาส 2/53 จะลดลงไม่เกิน 3.5% ซึ่งจะทำให้ช่วงครึ่งปีแรก จีดีพีจะเติบโตได้ราว 10% และทั้งปีอยู่ที่ 7-8% เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีเคยคาดไว้ก่อนหน้านี้

อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/53 อย่างเป็นทางการในวันที่ 23 ส.ค.นี้

ส่วนสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลห่วงมาตลอดว่าแนวโน้มเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นหลังเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว อันเนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลการค้า แต่สิ่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคง แข็งแกร่ง ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ที่เงินบาทจะเข้าสู่ภาวะแข็งค่า

"ถ้าให้ผมเลือก ผมว่าเศรษฐกิจดีแล้วมีปัญหาเงินบาทแข็งค่า ยังดีกว่าเศรษฐกิจแย่แล้วมีปัญหาเงินบาทอ่อน" รมว.คลัง กล่าว

อย่างไรก็ดี การที่เงินบาทแข็งค่าอาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย แต่ต้องยอมรับว่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแก่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่เป็นผลจากการอ่อนค่าของดอลลาร์อันเกิดจากภาระหนี้สิน อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เองยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

รมว.คลัง กล่าวว่า ผู้ส่งออกไทยเองจะต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดปกติ เพราะในช่วงที่ไทยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 25 บาท/ดอลลาร์นั้น ไทยยังสามารถแข่งขันได้ ซึ่งสิ่งที่ผู้ส่งออกกังวลอาจะเป็นเพราะเริ่มเคยชินหลังจากที่เงินบาทเคยอ่อนค่าลงไปถึงระดับ 40 บาท/ดอลลาร์มากกว่า

ส่วนที่เวียดนามลดค่าเงินด่องเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีนั้น คงไม่ได้ส่งผลกระทบในภาพรวมต่อไทยมากนัก แต่ไทยอาจจะเสียเปรียบเวียดนามอยู่บ้างในเรื่องราคาข้าว ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นความจำเป็นที่เวียดนามต้องตัดสินใจลดค่าเงินอีกรอบ เพราะมีปัญหาในระดับเศรษฐกิจมหภาค

ทั้งนี้ ภาวะเงินบาทแข็งค่ายังส่งผลดีในมุมที่ช่วยให้การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากต่างประเทศถูกลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการที่ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบของผู้ประกอบการลดลงจะส่งผลต่อราคาสินค้าและระดับเงินเฟ้อให้ลดลงด้วย ส่งผลดีต่อค่าครองชีพที่ลดลง

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทราบดีถึงหน้าที่ในการดูแลและบริหารค่าเงินบาทเพื่อไม่ให้เสียเปรียบการแข่งขันอยู่แล้ว และคงจะได้รายงานเรื่องนี้ให้กระทรวงการคลังได้รับทราบ

นายกรณ์ ยังฝากไปถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่จะประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสัปดาห์หน้าว่า ขอให้พิจารณาเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯ ยังคงใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ จึงทำให้เกิดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น เพราะนอกจากจะได้ได้กำไรผลประกอบการแล้ว ยังมีกำไรจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ