รง.น้ำตาลจับมือ กอน.ช่วยหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก้ปัญหาภัยแล้ง-ขาดแรงงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 19, 2010 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลจับมือกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ตั้งกองทุน 3 พันล้านบาทปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในเรื่องการเพิ่มปริมาณและคุณภาพหลังได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และนำไปซื้อรถตัดอ้อยเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

"ปัญหาขาดแคลนน้ำและขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยสดเป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตต่อไร่และคุณภาพความหวานของอ้อย เราจึงได้จัดทำสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ให้สามารถเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตอ้อยให้ดีขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการเห็นราคาอ้อยในฤดูการผลิตปี 53/54 ไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาท" นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโรงงานจึงได้ร่วมกับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจัดเตรียมวงเงินสนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะปลูกอ้อยจำนวน 2,000 ล้านบาท ในรูปแบบของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ โดยโรงงานน้ำตาลจะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้ โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นจะจัดสรรให้กับชาวไร่อ้อยรายละไม่เกิน 500,000 บาท ผ่านโรงงานน้ำตาล 46 โรงงาน ตามสัดส่วนปริมาณอ้อยเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี และมีระยะเวลาชำระคืน 4 งวด ภายในเวลา 4 ปี (ชำระคืนปีละครั้ง)

เนื่องจากการขาดแคลนน้ำถือเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งจากการสำรวจไร่อ้อยในปีนี้ พบว่า อ้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูก โดยเมื่อเปรียบเทียบความสูงของต้นอ้อยในเดือน ส.ค.ปีนี้สูงเพียง 1-1.2 เมตรเท่านั้น ต่ำกว่าเมื่อเดือน ส.ค.ปีก่อน ซึ่งมีความสูงในระดับ 1.5-1.7 เมตร และหากฝนยังคงตกต่อเนื่องถึงเดือน ก.ย.53 หรือมีการจัดการเรื่องแหล่งน้ำที่ดีจะทำให้ความสูงของต้นอ้อยเพิ่มขึ้นได้อีก 80-100 เซนติเมตร รวมแล้วต้นอ้อยจะสูง 2 เมตรเศษ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้

ประธานคณะกรรมการประสานงานฯ กล่าวว่า การขอรับเงินสินเชื่อดังกล่าวจะต้องนำไปใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น ขุดสระ หรือเจาะบ่อบาดาลสร้างระบบส่งน้ำ หรือมีโครงการที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำในไร่อ้อย ได้แก่ ระบบน้ำหยด หรือจัดหาเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการจัดการน้ำในไร่อ้อย หรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาภัยแล้งในไร่อ้อยอื่นๆ เพื่อให้มีแหล่งน้ำไว้ใช้เพาะปลูกอ้อยได้อย่างเพียงพอ

สำหรับโครงการสินเชื่อแก้ปัญหาน้ำในไร่อ้อยดังกล่าว คณะกรรมการบริหารกองทุนจะตั้งคณะทำงานบริหารโครงการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาว่า กิจกรรมที่จะนำเงินสินเชื่อไปใช้นั้นตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่

"โครงการนี้โรงงานน้ำตาลทรายซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย พร้อมให้การสนับสนุนกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย โดยขอให้โรงงานน้ำตาลทุกแห่งช่วยหักเงินค่าอ้อยส่งเข้ากองทุนฯ กรณีที่โรงงานไม่หักเงินค่าอ้อย หรือไม่นำส่งเงินที่หักจากค่าอ้อยต่อกองทุนสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) จะงดออกหนังสืออนุญาตขนย้ายน้ำตาลทราย" นายประกิต กล่าว

นอกจากสินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำแล้ว ยังมีสินเชื่อสำหรับจัดซื้อรถตัดอ้อยวงเงิน 1,000 ล้านบาท จากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายด้วย คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ กำหนดระยะเวลาชำระคืนภายใน 6 ปี (ชำระปีละครั้ง) โดยมีเงื่อนไขให้นำไปจัดซื้อรถตัดอ้อยตามราคาจริง แต่ไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อคัน กรณีผู้ขอสินเชื่อเป็นชาวไร่อ้อย กลุ่มชาวไร่อ้อย หรือสหกรณ์ชาวไร่อ้อย จะให้โรงงานเป็นผู้ค้ำประกัน แต่หากโรงงานเป็นผู้กู้จะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งโครงการนี้เป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่จะเป็นผู้ตัดอ้อยสด

โครงการสินเชื่อรถตัดอ้อยนี้ก็จะมีคณะทำงานผู้บริหารโครงการเช่นกัน โดยในส่วนกลางจะเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารกองทุน และในส่วนท้องถิ่น ให้สถาบันชาวไร่อ้อยและโรงงานร่วมกันบริหาร

"การส่งเสริม สนับสนุน และช่วยแก้ไขปัญหาของชาวไร่อ้อยเพื่อให้อาชีพชาวไร่อ้อยมีความมั่นคง เพราะเกษตรกรชาวไร่อ้อย มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและเอทานอล" นายประกิต กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ