นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 53 เติบโตได้ถึง 6.9% จากก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตในช่วง 5-6% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง เป็นผลสืบเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้การบริโภคปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
สำหรับ GDP ปี 53 ที่ ม.หอการค้าคาดไว้ที่ 6.9% มีมุมมองความเป็นไปได้ 60-65% ส่วนอีก 30% คาดว่ามีโอกาสที่ GDP จะเติบโตได้ใกล้เคียง 7-7.5%
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การที่ GDP ปี 53 จะมีโอกาสเติบโตได้สูงถึง 7-7.5% จะต้องมาจากการส่งออกที่ยังต้องเติบโตได้ดี ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐไม่ซึมมาก รวมทั้งมีมาตรการในการเยียวยาในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ได้ผล, ตัวเลขนักท่องเที่ยวเริ่มฟื้นกลับมาในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้, การเบิกจ่ายงบประมาณตามโครงการไทยเข้มแข็งและงบประมาณปี 54 ได้ลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้ที่ 7-7.5% แต่ปัจจุบันมอง 6.9% มีโอกาสมากที่สุด
ขณะที่ GDP ในไตรมาส 3/53 คาดว่าจะเติบโตได้ 5.1% ซึ่งเศรษฐกิจโดยรวมยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องแม้จะชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก และในไตรมาส 4/53 คาดว่าจะเติบโต 4-5%
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ทั้งปี 53 คาดว่าการส่งออกขยายตัว 23.9% มูลค่า 184,607 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะขยายตัว 31.5% มูลค่า 172,751 ล้านดอลลาร์ ดุลการค้าเกินดุล 11,800 ล้านดอลลาร์ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.5% อัตราการว่างงาน 1.3%
และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้นมาอยู่ในช่วง 1.75-2.00% อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท เฉลี่ยอยู่ที่ 32.00 บาท/ดอลลาร์ และราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ ในครึ่งหลังของปี 53 อัตราการส่งออกจะเริ่มชะลอตัวลง ไม่สูงเท่ากับช่วงครึ่งปีแรก โดยมองว่าปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯที่กำลังฟื้นชะลอตัวลง อัตราการว่างงานของสหรัฐยังสูงถึง 9.5% ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคในสหรัฐลดลง ดังนั้นทางม.หอการค้าเห็นสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลังนี้
ประกอบกับในสหภาพยุโรปยังมีปัญหาเกี่ยวกับหนี้สาธารณะ ทำให้ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นทำให้มองว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะชะลอลงเหลือประมาณ 10-12% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกที่โตกว่า 30%
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า นอกจากปัจจัยต่างประเทศ ยังมีปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่าด้วย ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ 31.50 บาท/ดอลลาร์ แต่ทั้งปีคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 32 บาท/ดอลลาร์ ดังนั้นเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังภาคการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนและช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้มากกว่าภาคการส่งออก
"ในช่วงครึ่งหลังของปี 53 การท่องเที่ยวจะเป็นแรงเหวี่ยงสำคัญ ในการฟื้นเศรษฐกิจและชดเชยการส่งออกที่เริ่มซึมลง ซึ่งถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ซึมมากคาดว่า Q4 ยอดนักท่องเที่ยวจะกลับมา" นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับในปี 54 ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่า GDP จะเติบโตในระดับ 4-5% ชะลอตัวลงจากในปี 53 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญาณซึมตัวลง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างมีนัยสำคัญ กำลังซื้อเริ่มลดต่ำลงกว่าปีก่อน ประกอบกับปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากทางภาครัฐ
ขณะที่การส่งออกในปี 54 คาดว่าจะเติบโตได้ 8-13% และมองว่าการส่งออกจะไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้า แต่จะมาจากกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับปัจจัยการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ รวมทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการด้วย
แต่หากมีการส่งเสริมการลงทุน และการใช้งบประมาณเป็นไปตามกรอบที่วางไว้ในโครงการไทยเข้มแข็ง รวมถึงการเมืองมีเสถียรภาพ ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นและกลับมาทองเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ในปีหน้าก็มีโอกาสที่จะทำให้ GDP ปี 54 เติบโตได้มากกว่า 5%
ส่วนเงินเฟ้อในปี 54 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5-4.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะมีการปรับเพิ่มขึ้น 1-1.5% มาอยู่ที่ 3% จากอัตราเงินเฟ้อที่สูง ส่วนเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากแนวโน้มยังแข็งค่าต่อเนื่องจากปีนี้ จากการส่งออกที่ยังมีสัญญาณการเกินดุลการค้าอยู่ แต่ทั้งนี้ถ้าหากการลงทุนยังเติบโตได้ดี ประกอบกับมีเงินทุนไหลเข้าทั้งในส่วนของตลาดเงินและตลาดทุน รวมทั้งปัญหามาบตาพุดคลี่คลายก็มีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าไปที่ 29.50 บาท/ดอลลาร์ และราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 85 ดอลลาร์/บาร์เรล