นายเยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เผยการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม(หมอชิต-สะพานใหม่) จะล่าช้าออกไปจากกำหนดการเดิม เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดิน แต่คาดว่าจะสามารถก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยและเปิดให้บริการได้ในปี 57
โดยโครงการดังกล่าว รฟม.อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดและประกวดราคาหาผู้รับเหมา ล่าสุดมีปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดิน จากเดิมที่กำหนดจะใช้พื้นที่ย่านดอนเมืองเป็นสถานที่ก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและพื้นที่จอดรถไฟฟ้า(Depo) แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเวนคืนที่ดินได้ รฟม.จึงปรับแผนงานก่อสร้างใหม่ โดยจะก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ไปที่ย่านคูคต ซึ่งทำให้ต้องขยายเส้นทางยาวขึ้น และมีวงเงนค่าก่อสร้างสูงขึ้นอย่างน้อยกิโลเมตรละ 2,000 ล้านบาท อีกทั้งทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างล่าช้าออกไป ซึ่ง รฟม.จะเสนอแผนรายละเอียดทั้งหมดให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง
นอกจากนี้ รฟม.ยังปรับแบบก่อสร้างบริเวณสถานีวงเวียนบางเขนหลังจากประสบปัญหาไม่ได้รับมอบพื้นที่ก่อสร้างจาก กทม.โดยจะปรับเปลี่ยนไปใช้พื้นที่ของกรมทางหลวงซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับบริเวณดังกล่าว ซึ่งหลังจากได้ข้อยุติเรื่องพื้นที่แล้วก็เชื่อว่าจะทำให้การกำหนดรายละเอียดของแผนการก่อสร้างมีความชัดเจนมากขึ้น
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู(ปากเกร็ด-แจ้งวัฒนะ-มีนบุรี) ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้สรุปผลการศึกษาให้ รฟม.แล้ว โดยได้กำหนดรายละเอียดการก่อสร้างแบบรางเดี่ยว(โมโนเรล) ซึ่งมีข้อดีเนื่องจากสามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วและใช้งบประมาณไม่มาก โดยขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างยกร่างเงื่อนไขการประกวดราคาโครงการ(ทีโออาร์) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า หลังจากนั้นจะใช้เวลาอีก 4 เดือนในการออกแบบรายละเอียดศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติวงเงินก่อสร้างต่อไป โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูนี้ รฟม.ตั้งเป้าหมายให้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 57 เช่นเดียวกัน
รักษาการผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า สำหรับการให้บริการระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(หัวลำโพง-บางซื่อ) ที่ รฟม.เป็นเจ้าของโครงการและมี บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL) เป็นผู้บริหารการเดินรถนั้น ขณะนี้มียอดผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยวันละ 190,000 คน และมีอัตราการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยปีละ 2-3% และเชื่อว่าหากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง(บางใหญ่-บางซื่อ) ที่ รฟม.เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 57 จะสามารถเพิ่มผู้โดยสารเข้าระบบได้อีกวันละ 100,000 คน