ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะไทยเร่งปรับตัวให้ทันตลาด-ลูกค้า ก่อนเสียตลาดข้าวให้คู่แข่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 20, 2010 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและลูกค้า จากการที่ประเทศเวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศ หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่(CLMV) ที่ประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม กำลังก้าวเข้ามาเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทั้งตลาดและลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป

แม้ว่าตลาดโลกยังมีความต้องการข้าว เนื่องจากจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงการโยกย้ายแรงงานเอเชียไปยังประเทศต่างๆ ทำให้ความนิยมในการรับประทานข้าวในประเทศต่างๆเพิ่มขึ้น แต่ประเทศผู้ผลิตข้าวเพื่อการส่งออกมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการที่ราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้หลายประเทศหันมาปลูกข้าวเพิ่มขึ้นเพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศแล้ว หลายประเทศก็หันไปปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสมที่มีผลผลิตต่อไร่สูง เพื่อทดแทนการนำเข้า และหลายประเทศก็เพิ่มกำลังการผลิตทำให้สามารถส่งออกเป็นคู่แข่งรายใหม่ในตลาด อีกทั้งการที่ข้าวไทยมีราคาที่สูง เป็นตัวผลักดันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ซื้อ โดยหันไปบริโภคข้าวเกรดต่ำ หรือสินค้าธัญพืชประเภทอื่นๆทดแทน เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี เป็นต้น

เวียดนามกำลังพยายามขยับขึ้นมาเบียดแย่งตลาดข้าวหอม และข้าวนึ่ง ปัจจุบันเวียดนามเริ่มมีการส่งออกข้าวนึ่งบ้างแล้ว แต่ปริมาณยังไม่มากนัก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจข้าวของไทย โดยเฉพาะราคาที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าความต้องการข้าวในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์สูงก็ตาม รวมทั้งยังต้องเตรียมกลยุทธ์ที่จะรับมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ที่กำลังขยายพื้นที่ปลูกข้าว โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าว เท่ากับประเทศเหล่านี้จะกลายเป็นคู่แข่งในการส่งออกข้าวรายไหม่ของไทย

ในส่วนข้าวหอมมะลิของไทยก็เริ่มถูกข้าวหอมเวียดนามเข้ามาแข่งขัน โดยสถิติส่งออกข้าวหอมของเวียดนามในปี 2552 เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 60 และข้าวขาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0 ซึ่งการเข้ามาแข่งขันข้าวหอมเวียดนาม นับว่าเป็นการแข่งขันกับตลาดข้าวหอมมะลิที่เป็นจุดแข็งของไทย สำหรับข้าวขาวไทยถูกเวียดนามเบียดแย่งตลาด โดยเฉพาะข้าว25% ที่ชิงส่วนแบ่งตลาดกลุ่มประเทศอิรัก อิหร่าน และฟิลิปปินส์ที่เคยเป็นตลาดข้าวของไทยมาก่อน ทำให้ตลาดข้าวขาวของไทยเหลือเพียงตลาดข้าวขาวคุณภาพหรือตลาดพรีเมี่ยมในตลาดญี่ปุ่น ที่เปิดนำเข้าข้าวภายใต้ข้อผูกพันกับองค์การการค้าโลก และใช้ข้าวไทยในอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงจีนและฮ่องกงที่นำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทย

ปัจจุบันไทยเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนาม ทำให้ในปี 2553 ไทยปรับเป้าหมายการส่งออกข้าวลงเหลือ 8.3-8.5 ล้านตัน จากที่เคยตั้งเป้าหมายว่าจะส่งออกข้าวได้มากถึง 9.5 ล้านตัน เมื่อเทียบกับเวียดนามซึ่งตั้งเป้าว่าจะส่งออกข้าวได้ 6.1 ล้านตัน แต่เวียดนามปรับประมาณการส่งออกขึ้นเป็น 6.4-6.5 ล้านตัน เนื่องจากสามารถส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ได้มากเป็นประวัติการณ์ และขยายตลาดส่งออกไปยังบังคลาเทศในช่วงไตรมาสสามอีกด้วย

ขณะที่ในระยะถัดไปกัมพูชาและพม่าก็จะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งรายใหม่ จากการขยายการผลิตและการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการปรับมาตรฐานการสีข้าว และระบบชลประทาน รวมถึงระบบโครงสร้างสาธารณูปโภค หลังจากนั้นไม่นานลาวก็จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหม่เช่นกัน ซึ่งเท่ากับว่าทั้งกัมพูชา พม่า และลาวจะเป็นคู่แข่งในการส่งออกข้าวของไทยในอนาคต แม้ว่าในปัจจุบันปริมาณการส่งออกข้าวของประเทศเหล่านี้ยังไม่มากนัก แต่ก็มีแต้มต่อจากการสนใจเข้าไปลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งประเทศในตะวันออกกลาง จีน และเวียดนาม รวมทั้งการได้รับสิทธิพิเศษในการลดภาษีนำเข้า โดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ประเด็นที่ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนคือ ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ข้าวเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ทางการตลาดและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเจาะขยายตลาดข้าวของเวียดนาม ที่ประสบความสำเร็จในการเบียดแย่งสัดส่วนตลาดส่งออกข้าวขาวของไทย โดยใช้กลยุทธ์ราคา ที่ราคาข้าวไทยที่สูงกว่าเวียดนามเกือบตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ และใกล้เคียงกับราคาข้าวของสหรัฐฯ ทำให้ผู้ซื้อไม่สนใจข้าวไทยมากนัก

ในด้านการผลิต การปรับตัวของเกษตรกรรายย่อยนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยีสมัยใหม่ และข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ ดังนั้น การสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มกันเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิต เช่น การรวมกลุ่มกันเพื่อปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวพร้อมกันเป็นที่ดินแปลงใหญ่ ซึ่งทำให้สามารถจ้างรถเก็บเกี่ยวข้าว ซื้อปัจจัยการผลิต เข้าถึงแหล่งเงินทุน และรับความช่วยเหลือในด้านต่างๆจากหน่วยงานรัฐบาลได้ง่ายขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไทยต้องเร่งพัฒนาการบริหารจัดการที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว และการพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอกับการปลูกข้าว

ในด้านการตลาดส่งออกนั้น การรวมตัวกันระหว่างประเทศผู้ส่งออกข้าวในอาเซียนด้วยกันนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากอำนาจในการผูกขาดเพื่อกำหนดราคานั้นไม่เหมือนกับกลุ่มโอเปค ซึ่งการส่งออกข้าวยังเป็นการแข่งขันที่รุนแรงต่อไป ดังนั้น ไทยต้องรักษาจุดแข็งของไทยที่เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวคุณภาพ และข้าวเกรดพรีเมี่ยมอย่างข้าวหอมมะลิ แม้จะมีข้าวหอมอื่นๆมาแข่ง แต่คุณภาพยังสู้ข้าวหอมมะลิไม่ได้ รวมทั้งยังต้องสื่อสารให้กับประเทศผู้นำเข้าข้าวรับรู้ด้วย นอกจากนี้ ข้อได้เปรียบของไทย คือ มาตรฐานของโรงสี การคัดเกรดมาตรฐานข้าว และโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ